

ขับขี่ปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อค
อบจ.ภูเก็ต รณรงค์
ขับขี่ปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อค
หลาย ๆ คนยังไม่ทราบว่าประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุมากมายขนาดไหน มากจนทำให้ ประเทศไทยขึ้นอันดับหนึ่ง “ประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลก” และ 70 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุทั้งหมดคือ จักรยานยนต์
นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต ได้จัดกิจกรรม ร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อคขณะขับขี่และซ้อนท้าย เพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
![]() นายเรวัต อารีรอบ กล่าวว่า จากข้อมูลการสูญเสีย เนื่องจากการตายก่อนวัยอันควร พบว่า “อุบัติเหตุ” เป็นสาเหตุ 1 ใน 3 อันดับแรกของการสูญเสียปีสุขภาวะในกลุ่มประชากรวัย 15-29 ปี การสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในแต่ละปี ส่วนหนึ่งเป็นการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ “ศีรษะ” ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ดังนั้นการสวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อคจึงเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยป้องกันและลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ขณะประสบอุบัติเหตุได้
อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่า คนภูเก็ตใส่หมวกกันน็อคไม่ถึง 50% ในจำนวนนี้เด็กเล็กสวมหมวกกันน็อคเพียง 8% แม้มีความพยายามรณรงค์ให้มีการสวมหมวกกันน็อคมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้มีการณรงค์การส่งเสริมหมวกนิรภัย 100% แต่ปัจจุบันยังมีการสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์รวมกันแล้วไม่ถึง 50%
![]() จากการติดตามสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) โดยมูลนิธิไทยโรดส์ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สำรวจการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553 – 2561 มีกลุ่มตัวอย่างจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,529,808 คน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ผลสำรวจพบว่า แนวโน้มพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยในภาพรวมของประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยสถานการณ์ในปี 2561 พบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยในภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 45% แบ่งออกเป็นกลุ่มผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย 51% ส่วนผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัย 22% ซึ่งอัตราการสวมหมวกนิรภัยของปี 2561 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบจากปี 2560
นอกจากนี้ สถานการณ์การสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในช่วงตั้งแต่ปี 2557 – 2561 การสวมหมวกนิรภัยในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ
นอกจากนี้ การสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเด็กยังเป็นกลุ่มที่สวมหมวกนิรภัยน้อยที่สุดเพียง 8% เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นไม่นิยมสวมหมวกนิรภัย มีเหตุผลอื่น ๆ “เดินทางในระยะใกล้ ๆ ขี้เกียจใส่” “ใส่ตอนกลางคืนมองทางไม่เห็น” “โดนขโมยหมวกกันน็อค” “ผมเสียทรง/ผมเปียก” “ใส่แล้วร้อน” “ขาดสามัญสำนึก” และยังพบประเด็นที่น่าสนใจคือ “เป็นความเคยชินของเด็กต่างจังหวัดที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อค” อัตราการเสียชีวิตทางถนนที่น่าตกใจก็คือการเกิดอุบัติเหตุของเด็กเล็กที่นั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ ซึ่งพบว่าผู้เสียชีวิต 92% ไม่สวมหมวกนิรภัย
ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยสำคัญเกิดจากความไม่ใส่ใจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชน จึงจะเห็นภาพพ่อแม่ ผู้ปกครอง นำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนโดยไม่สวมหมวกกันน็อก
ขณะเดียวกันสถานศึกษาก็ไม่มีนโยบายที่เข้มงวดกวดขันกับผู้ปกครองที่ไม่สวมหมวกกันน็อกให้บุตรหลาน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับเด็กที่ไม่สวมหมวกกันน็อก เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากจะถูกกระแสต่อต้านจากสังคมหากมีการดำเนินคดีกับเด็ก ส่งผลให้แต่ละปีมีเด็กและเยาวชนไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์สูงถึง 3,918 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 10 คนต่อวัน
นายเรวัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวภูเก็ตร่วมกันสวมใส่หมวกกันน็อคขณะขับขี่และซ้อนท้าย เราทุกคนมีส่วนร่วมในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้เป็นศูนย์ ได้
|
สกู๊ปข่าว ภูเก็ต