

พิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม 66 ปี วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต โดย พีระพงค์ ผลประมูล ผู้สื่อข่าว : สื่อสร้างสรรค์ ทันเหตการณ์
พิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม 66 ปี
วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต
![]() มีตำนานของพระวิศวกรรมในวรรณคดีและสังคมไทย ว่า พระวิษณุกรรม ถือเป็นเทพ "ชั้นผู้ใหญ่" ที่สถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ และเป็นบริวารของพระอินทร์อีกทีหนึ่ง มีชื่ออยู่หลากหลายตามประสาของเทพ ทั้งพระวิษณุกรรม พระวิศวกรรมา พระวิสสุกรรม วิศวกรรมัน พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม ซึ่งชื่อทั้งหมดที่ว่ามานั้นสามารถกล้อมแกล้มแปลความหมายได้ว่า "ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง"
ภูเก็ตออนไลน์ ได้มีโอกาสตาม ท่านนายก อบจ.ภูเก็ต ไปร่วมพิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม ครบรอบ 66 ปี ณ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต
![]() เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 เวลา 08.30 น. นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคภูเก็ต ร่วมพิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม 66 ปี วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต ประจำปีการศึกษา 2566 ณ ลานหน้าพระวิษณุกรรม วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต โดย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธี ซึ่งมี นายถิรเดช เพ็ญรัตน์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน นายระวิ ดาบทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต นายธราธิป ทองเจิม นายก อบจ.พังงา พร้อมด้วย ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต คณะครู นักศึกษา และผู้มีเกียรติ เข้าร่วม
![]() การจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงบุคลากรทุกคน ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของพิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม อันถือได้ว่าเป็นเทพแห่งวิศวกรรมของไทย เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างขวัญและกำลังใจ ศรัทธาและเสริมสร้างให้รู้คุณค่าของวิถีชีวิต เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในหมู่คณะ มีความรัก สามัคคี รวมถึงการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม
![]() นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวขอบคุณในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่า วท.เทคนิคภูเก็ตว่า “กิจกรรมบวงสรวงฯ ครั้งนี้ เป็นคุณค่าทางจิตใจที่ถือเป็นรากเหง้าของขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิต อันเป็นพื้นฐานของความดี มีจริยธรรมและยังเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกันระหว่างครูอาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ รวมถึงชุมชนและสถานประกอบการ ในการสร้างคนให้มีคุณภาพ และมีจิตสาธารณะ ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการจัดงานทุกคน ที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ เพื่อจัดงานครั้งนี้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ พวกท่านคือเมล็ดผลแห่งความภาคภูมิใจของวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต”
![]() ช่างไทยแขนงต่าง ๆ ให้ความเคารพบูชาพระวิศวกรรมในฐานะครูช่าง
โดยเรามักพบเห็นรูปจำลององค์ท่านได้บ่อย ๆ ตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบัน โดยนิยมสร้างอยู่สองท่า คือ ท่าประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือ ผึ่ง (จอบสำหรับขุดไม้) และอีกข้างถือ ดิ่ง และท่าประทับยืนมือขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา มือซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉาก
หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพช่างก่อสร้าง มักอยู่ในท่ายืนมือถือลูกดิ่งและไม้เมตรหรือไม้วาอันเป็นเครื่องมือของช่างก่อสร้างมาแต่สมัยโบราณ
ซึ่งช่างทั้งหลายทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำหรับวัดระยะ วัดความเที่ยงตรง
แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นยังแฝงไปด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิต คือความแม่นยำ เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาของช่างที่ดี คือความมีคุณธรรมประจำใจ
หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่างก่อสร้างอยู่ด้วย มักจะใช้ท่านั่ง
![]() อีกตอนหนึ่งที่พระวิศวกรรมมีบทบาทก็คือตอนกำเนิดพระคเณศวร หรือพระพิฆเณศร์ คือแรกเริ่มเดิมทีพระคเณศวรก็เหมือนกับกุมารธรรมดาทั่วไปนั่นแหละ แต่ด้วยวาจาสิทธิ์ของพระนารายณ์ก็เลยทำให้เศียรของพระกุมารคเณศวรขาดหายไป ครานี้ก็ถึงทีที่พระวิศวกรรมต้องระเห็จไปหาเศียรมาต่อ ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ พอดีไปเจอช้างพลายตัวหนึ่งนอนตายโดยหันหัวไปทางทิศเหนือ (บ้างก็ว่าทิศใต้) พระวิศวกรรมก็เลยตัดหัวช้างตัวนั้นแล้วนำมาต่อเข้ากับกายพระกุมารคเณศวร และพระคเณศวรจึงมีเศียรเป็นช้างแต่นั้นมา
![]() บทบาทนายช่างเอกของพระวิศวกรรม
พระวิศวกรรมนั้นมีลูกสาวชื่อว่านางสัญชญา เกิดแต่นางนางฆฤตาจี ซึ่งเป็นหนึ่งในนางอัปสร 11 นางที่งามเลิศที่สุด
นางสัญชญาเป็นมเหสีของพระอาทิตย์ ก็อยู่กินด้วยกันนานมาก แล้วจู่ ๆ วันหนึ่งลูกสาวก็มาบ่นให้พ่อตัวฟังว่า ชักจะทนรับรัศมีอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ไม่ไหวแล้ว ด้วยหัวอกของผู้เป็นพ่อที่รักลูกสาว ก็เลยจับลูกเขยคือพระอาทิตย์มาขูดฉวี (ผิวกาย) ออกไปซะส่วนหนึ่ง (ไม่รู้มากน้อยเท่าใด) เพื่อลดความร้อนแรงให้น้อยลง
จากนั้นก็เอาส่วนที่ขูดออกมานั้นไปออกแบบเป็นอาวุธนานาชนิดจ่ายแจกแก่เทวดาทั้งหลาย เช่น ทำตรีศูลถวายให้พระอิศวร จักร สำหรับพระนารายณ์ วชิราวุธ (สายฟ้า) ให้พระอินทร์ คทา ให้ท้าวกุเวร และ โตมร (อาวุธสำหรับใช้ซัด - หอก) ให้พระขันทกุมาร เป็นต้น
![]() บทบาทของนายช่างเอกแห่งสวรรค์ยังไม่หมด
เพราะนอกจากจะเป็นนายช่างใหญ่แล้ว พระวิศวกรรมยังมีความสามารถทางด้านดุริยะดนตรีอีกด้วย
ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องดนตรีขึ้นใช้ ทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะขึ้น ดังนั้น เราจึงเคารพบูชาท่านในฐานะ เป็นครูผู้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีให้เกิดขึ้น ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า เมื่อแรกในอดีตกาล มนุษย์ยังไม่มีอารยะธรรมอย่างเช่นทุกวันนี้ การละเล่นและการบันเทิงต่าง ๆ ยังไร้ระบบระเบียบ จะร้องจะเล่นสิ่งใดก็ขาดความไพเราะและความงดงาม จนร้อนถึงพระอินทร์ ด้วยนึกเวทนาเหล่ามนุษย์จึงมีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมนายช่างใหญ่ประจำสวรรค์ ลงมาบอกสอนมนุษย์ให้รู้จักการละเล่นอย่างเหมาะสม พระวิศวกรรมรับเทวโองการแล้วจึงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์และจำแลงองค์เป็นชีปะขาวเที่ยวจาริกไป ถึงท้องที่ถิ่นใดก็นำความรู้การละเล่นต่าง ๆ วิชาช่าง รวมถึงวิชาช่างทำเครื่องดนตรีมาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและเล่นเครื่องดนตรี จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้ (เครดิตข้อมูล มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย )
![]() ตามตำนานกล่าวว่า พระวิศณุกรรม เป็น เทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ เป็นผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างให้กับมนุษย์สืบมา
พระวิศวกรรมรับเทวโองการต่าง ๆ จากพระอินทร์ เพื่อสร้าง อุปกรณ์ สิ่งของ อาคาร ต่าง ๆ มากมาย เป็นผู้นำวิชาช่าง มาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและใช้งานสิ่งของต่าง ๆ จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
|
สกู๊ปข่าว ภูเก็ต