ReadyPlanet.com


38 ปีที่รอคอย สารคดีท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย


38 ปีที่รอคอย

สารคดีท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

โดย ภูริต มาศวงศ์ศา

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากที่เพิ่งกลับมาจากการทำงานส่งเสริมการขายและการตลาดที่นครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหัวเรือหลักในการดำเนินการ ผมก็ได้รับแจ้งจากทางสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ให้ผมเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเดินทาง ในการนำคณะไปดูงานด้านการบริหารการท่องเที่ยวโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก ที่เป็นเมืองหลัก, ประเทศสวีเดน, ประเทศนอรเวย์ และ ประเทศฟินแลนด์ ในระหว่างช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึง ต้นเดือนสิงหาคม นี้ ซึ่งมีเวลาเหลือให้ผมดำเนินการเพียง 10 วันเท่านั้น เรื่องแรกที่คำนึงถึงในทันทีก็คือ วีซ่า ครับ เพราะด้วยเวลาเพียงเท่านี้ ต้องใช้บุญเก่าที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนเท่านั้น ที่จะสามารถดลบันดาลให้เสร็จตามกำหนดก่อนเดินทางได้ และก็ไม่รู้ว่าจะพอมีบุญเหลืออยู่สักเท่าไหร่ เพราะใช้ไปก็มากโขอยู่เหมือนกัน

และที่สำคัญ โจทย์ของผมเที่ยวนี้ ก็คือ ให้คณะที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปในเรื่องของการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวโดยองค์การปกครองท้องถิ่น จำนวน 1 แห่ง และ การจัดการด้านการท่องเที่ยวในต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดภูเก็ตอีก 1 แห่ง นึกในใจว่า นี่มันหินชัดๆ แต่ก็ต้องกัดฟันสู้ล่ะครับ เอาไงเอากัน หลังจากทราบโจทย์แล้ว ผมก็กลับมานั่งทบทวนถึงสิ่งต่างๆที่ได้กระทำไปทั้งกรรมดีและไม่ดี ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เพื่อระลึกถึงอดีตที่ผ่านมาว่าได้เคยรู้จักใครและได้ก่อกรรมดีอะไรไว้ที่เค้าพอจะช่วยเหลือเราให้รอดพ้นจากวิกฤติในครั้งนี้ได้

เมื่อตั้งสติได้ สิ่งแรกที่ทำก็คือ ไปขออนุญาตเจ้านายที่รักและเคารพ คุณอรุณรัตน์ สวัสดิ์ทอง เจ้าของโรงแรมป่าตอง รีสอร์ท ที่ผมทำงานอยู่ โดยไปเรียนท่านว่า ทางจังหวัดภูเก็ตขอช่วยให้ผมนำคณะไปดูงานที่สแกนดิเนเวีย เป็นเวลา 8 วัน ขออนุญาตลาหยุดงานไปรับใช้ชาติครับผม กล่าวเสร็จก็ไม่ต้องรอให้อนุญาต เพราะรู้ว่าท่านมีใจเมตตา กระพุ่มมือไหว้ ก้มหัวกราบคารวะขอบพระคุณท่าน พร้อมค้างมือซ้ายไว้แล้วแบมือขวาไปข้างหน้า เป็นท่าสัตตางคประดิษฐ์ ซึ่งเป็นท่าสากลที่รู้กันโดยทั่วไปในความหมายว่า “ขอสตางค์ไปกินขนมด้วยครับท่าน” แล้วก็ไม่ผิดหวังอย่างที่บอก ท่านเมตตาให้มาจำนวนหนึ่งพอไว้กินเหล้ากินไวน์กันตายได้ตลอดการเดินทาง

วันรุ่งขึ้น สิ่งแรกที่ทำก็คือเดินทางไปหาคุณหมอสมโภช นิปกานนท์ กงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดน ประจำภูเก็ต เพื่อขอหารือกับท่านในเรื่องการขอวีซ่าในระยะเวลาอันจำกัด หลังจากได้ให้ข้อมูลกับคุณหมอแล้ว ในที่สุดผมก็พบว่า ตัวเองยังพอมีบุญเหลืออยู่บ้างจริงๆ ท่านได้ให้ความกรุณาแนะนำให้ไปพบกับคุณต้อม ที่สถานกงสุลฯ และช่วยติดต่อดำเนินการให้ โดยให้ทางจังหวัดออกหนังสือรับรองไปประกอบการยื่นขอวีซ่า ซึ่งก็ไปดำเนินการตามนั้นและได้รับเล่มพาสปอร์ตกลับมาทันเวลาก่อนเดินทางพอสมควร ก็ต้องขอขอบพระคุณคุณหมอและคุณต้อม จากสถานกงสุลสวีเดน ประจำภูเก็ต ไว้ ณ โอกาสนี้

ทีนี้ คนป่าก็มีปืนแล้ว แต่ยังไม่มีลูกปืนครับ ทำอย่างไรล่ะทีนี้ ก็ต้องกลับมานั่งทบทวนโจทย์กันอีกครั้ง จะทำอย่างไรดี บุญเก่ายังพอมีจริงอย่างที่บอกไว้แหละครับ นึกขึ้นได้ว่ามีเพื่อนสนิทเพิ่งย้ายไปอยู่ที่กรุงออสโล ประเทศนอรเวย์ ประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ก็เลยรีบติดต่อไปในฉับพลันทันใด โดยไม่ได้ลืมหูลืมตาดูว่าเป็นเวลากี่โมงกี่ยาม เค้ายังทำงานกันอยู่หรือหลับกันหมดแล้ว เพราะเวลามันต่างกัน 5 ชั่วโมง ซึ่งขณะนั้นน่าจะเป็นเวลาที่เค้ายังหลับกันอยู่เพราะเพิ่งจะ 10 โมงเช้าเมืองไทย ก็เลยคิดว่าอย่ากระนั้นเลย อีเมล์ ไปลอยไว้ดีกว่า เพื่อเปิดมาเจอตอนตื่นนอนจะได้ตอบมาทันที หลังจากนั้นซัก 4 ชั่วโมง ผมก็ได้รับอีเมล์ตอบกลับมา ว่า “ตั๋น” หรือ คุณพรรณภา จันทรารมณ์ ไปเป็น อัครราชทูต อยู่ที่นั่น ก็เข้าล็อกเลยครับ เพราะในที่สุด ตั๋น ก็เลยต้องเป็นศูนย์กลางของการประสานงานให้ผมไปโดยปริยาย เพื่อที่จะให้ภารกิจที่ 1 ในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายที่ทางจังหวัดได้วางไว้ โดยให้ทางสำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินการไปตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศในการขอดูงานต่างประเทศ ส่วนผมก็ดำเนินการประสานงานทางข้างเพื่อให้เรียบร้อยในระยะเวลาอันสั้น แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้รับคำอธิบายจากคุณพรรณภาว่า ในช่วงนี้ของปี คือเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน จะเป็นหน้าร้อนของกลุ่มสแกนดิเนเวีย และส่วนใหญ่จะลาพักร้อนกันเกือบหมด เหลือคนทำงานอยู่น้อยมาก การติดต่อประสานงานจะเป็นไปได้ก็ด้วยความลำบากพอสมควร แต่ผมก็บอกคุณพรรณภาไปว่า ไหนๆก็ตั้งเข็มทิศแล้วล่ะ ยังไงๆเรือก็ต้องถอนสมอ ลุยกันเถอะนะ ซึ่งเธอก็รับปากในทันที เอ้าลุยก็ลุย นี่ล่ะ “พรรณภา”

ทีนี้ ผมก็จะขอเข้าเรื่องของการเดินทางเลยนะครับ ส่วนภารกิจที่ 2 ขออุบไว้ก่อน เพื่อให้เป็นที่ประหลาดใจของผู้อ่านทุกท่าน เหมือนนิยายไงครับ ต้องมีการเดาใจกันบ้างว่า กาลในอนาคตข้างหน้านั้น เรื่องราวมันจะเป็นไปในทิศทางใด

หลังจากการจัดเตรียมเอกสารในการเดินทางและติดต่อประสานงานสำเร็จไปแล้วในส่วนที่ 1 ผมก็มาจัดทำแผนการเดินทาง เพื่อให้มีความสะดวกและราบรื่นในทุกประการ โดยประสานงานกับ คุณกิตติบุตร รักษาณาเวส หรือ คุณซี แต่ผมจะเรียกอย่างคนคุ้นเคยว่า “เจ้านกหัวจุก” เนื่องจากทรงผมที่ล้ำสมัยตลอดกาลของเค้า

คุณซี เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ประสานงานการเดินทางในหลายๆหน่วยงานของจังหวัดภูเก็ต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มของสมาชิกวุฒิสภา เรียกว่าเกือบจะทุกกรรมาธิการเลยทีเดียว หลังจากที่ได้พูดคุยกันพอสมควร เราก็เตรียมแผนการเดินทางดังนี้ครับ เริ่มแรก ออกจากภูเก็ต ไปเปลี่ยนเที่ยวบินที่สุวรรณภูมิ แล้วเดินทางต่อไปยังสนามบินโคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก ไปถึงตอนเช้า เปลี่ยนเที่ยวบินเป็นสายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ ซีสเต็ม หรือ ที่รู้จักกันนาม เอส เอ เอส นั่นเอง เดินทางต่อไปยังกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของประเทศฟินแลนด์ พักที่นั่น 1 คืน แล้วลงเรือเดินสมุทรข้ามทะเลบอลติค จากเฮลซิงกิ ในตอนเย็น พักค้างคืนบนเรือ 1 คืน และมาถึง ท่าเรือกรุงสต๊อกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดนในตอน 9 โมงเช้า พักค้างที่นี่ 1 คืน แล้วเดินทางต่อด้วยรถโค้ช ไปยังกรุงออสโล เมืองหลวงของประเทศนอรเวย์ ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง ระยะทาง 530 กิโลเมตร โดยพักรับประทานอาหารกลางวันระหว่างทางที่เมืองคาร์ลสตัด เมืองตากอากาศริมทะเลสาบของสวีเดน ถึงออสโล ตอนเย็น พักค้างที่นี่ 2 คืน เพราะต้องดูงานที่นี่ หลังจากนั้น ออกเดินทางจากกรุงออสโล ไปยังโคเปนเฮเก้น โดยสายการบิน เอส เอ เอส พักที่โคเปนเฮเก้น 1 คืน แล้วออกเดินทางกลับ กทม.ในบ่ายวันรุ่งขึ้น ถึงสุวรรณภูมิตอนเช้า ต่อเครื่องการบินไทยเที่ยวเช้ากลับถึงภูเก็ตโดยสวัสดิภาพ รวมแล้ว พัก 5 คืนบนบก 1 คืนบนเรือ และ 2 คืนบนเครื่องบิน รวมเป็น 8 คืนเดินทาง เอาล่ะครับ เราเริ่มต้นเดินทางกันแล้วนะครับ หลังจากที่ได้กำหนดเส้นทางกันเรียบร้อยแล้ว ผมก็ตรวจสอบความพร้อมอีกครั้งหนึ่งกับทางจังหวัดและจุดนัดที่ปลายทาง ที่เราจะไปกัน เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้ง ตามปกตินิสัยของผมเอง ที่จะไม่ค่อยยอมไปหาเอาดาบหน้าเป็นอันขาด ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ เอาล่ะ ซ้ายพร้อม ขวาพร้อม แนวยิงตรงหน้า ระวัง ออกเดินทางกันแล้วครับ

วันที่ 27 กรกฎาคม 2554 เวลา 19.00 น. คณะผู้ร่วมเดินทางพร้อมหน้ากันที่เคาน์เตอร์ของการบินไทย ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต คณะทั้งหมด 26 คน นำโดย นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ก็เหิรฟ้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเปลี่ยนเที่ยวบิน แล้วเดินทางต่อไปยังสนามบินโคเปนเฮเก้น การเดินทางสะดวกสบายและมาถึงสนามบินโคเปนเฮเก้น ในตอน 7 โมงเช้า ของวันที่ 28 กรกฎาคม 2554

หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจหนังสือเดินทางเนื่องจากเป็นด่านแรกที่เราต้องเข้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเรียบร้อยแล้ว คณะทั้งหมดก็ไปรอเปลี่ยนเที่ยวบินในห้องผู้โดยสารผ่าน และขึ้นเครื่องของสายการบินเอส เอ เอส เดินทางต่อไปยังกรุงเฮลซิงกิ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที ระหว่างที่กับตันกำลังนำเครื่องลง ก็ให้ปรากฏเหตุการณ์ตื่นเต้นเล็กน้อย เนื่องจากเกิดสภาพอากาศแปรปรวน มีเมฆมากและฝนตก แต่ไม่มีลมพัดแรง เครื่องมุดเมฆเข้าๆออกๆอยู่เกือบ 10 นาที เกิดอาการสวิงสวายกันไปทั้งลำ แต่เมื่อถึงสนามบินก็แล่นลงได้อย่างราบรื่น ถึงกระนั้นก็เถอะ หลายคนบ่นว่ากัปตันไม่อ่านหนังสือพิมพ์ไทยเลย เพิ่งพาดหัวตัวโตที่ภูเก็ต

เมื่อเราออกมาจากสนามบิน ก็มีไกด์สุภาพสตรีสาวสวยมารอต้อนรับ พร้อมรถโค้ชคันใหญ่นั่งสบาย เธอเป็นไกด์คนไทย 1 เดียวในกรุงเฮลซิงกิ ที่สอบได้และรับใบอนุญาตจากทางราชการออสโล ให้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายให้กับหน่วยงานราชการไทยทั้งหลายที่มาขอดูงานที่นี่ หลังจากนั้นก็นำคณะเดินทางเข้าเมืองชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แล้วรับประทานอาหารกลางวันกัน มื้อนี้เป็นอาหารจีนครับ รับประทานอาหารเสร็จเราก็ไปเยี่ยมชมสถานที่ราชการสำคัญๆของกรุงเฮลซิงกิ และชมการบริหารจัดการเมืองในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งผู้บรรยายของเราเป็นผู้นำชมและบรรยายได้อย่างละเอียดเลยทีเดียว จนถึงเวลาค่ำก็ไปรับประทานอาหารเย็นกันอีกครั้งที่ร้านจีน แต่คนละร้านกันกับเมื่อตอนเที่ยง แล้วก็กลับไปเข้าที่พัก โรงแรมแรดิสัน บลู ในย่านกลางเมือง แต่บรรยายกาศกลับสว่างเหมือนกลางวันในยามปกติ ถึงแม้จะเป็นเวลา 3 ทุ่มกว่าแล้วก็ตาม ทำให้คณะเราตาค้างหลับไม่ลงกันเป็นแถว

เช้าวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ไปแวะสักการะโบสถ์ศักสิทธิ์ประจำเมือง เป็นอย่างไรให้สังเกตดูจากรุปภาพประกอบเพราะเหนือคำบรรยายจริงๆครับ เสร็จแล้วคณะก็ออกเดินทางไปทัศนศึกษายังหมู่โบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งยังคงความงดงามของศิลปกรรมในสมัยศตวรรษที่ 15 ไว้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเฮลซิงกิ ไกด์ เล่าให้ฟังว่า ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเฮลซิงกิ หรือ ฟินแลนด์ ไม่ใช่ชาวยุโรปโดยแท้ แต่เป็นชาวมงโกลที่มาตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเจิงกิสข่าน ยกทัพมารบอยู่ในยุโรปตอนเหนือ แล้วก็ผสมปนเปไปกับชาวรัสเซีย, ชาวไวกิ้งจากสวีเดนและเดนมาร์ก จนเป็นชุมชนใหญ่อยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้หน้าตาของผู้คนในเมืองนี้กระเดียดไปทางเอเชียเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ดูแล้วดูอีก แล้วก็เป็นอย่างที่ว่าจริงๆ

เสร็จสิ้นจากการเดินชมเมืองเก่าสมัยพระเจ้าซาร์ จากนั้น คณะก็ไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารไทย ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวปักษ์ใต้ มื้อกลางวันสำหรับวันนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่ นายกเทศบาลศรีสุทร เปิดไวน์เลี้ยงฉลองวันเกิดให้กับคุณสมบูรณ์ จากสำนักงานที่ดินถลางที่ร่วมคณะไปกับเราด้วย เสร็จสรรพเรียบร้อย ก็เดินทางเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองเพื่อเดินชมการจัดวางผังเมืองและรูปแบบของการจัดการจราจร ที่แม้จะดูยุ่งเหยิงแต่ก็มีความเป็นระเบียบและเป็นสัดส่วนอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นถนนสำหรับยวดยานพาหนะ, บาทวิถี สำหรับคนเดินเท้า, ช่องทางสำหรับจักรยานและรถรางไฟฟ้าขนส่งมวลชน

ตกเย็น คณะทั้งหมดก็เคลื่อนพลไปยังท่าเรือน้ำลึกของเฮลซิงกิ เพื่อลงเรือเดินทะเลของ Silja Line เพื่อเดินทางไปยังกรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลังจากล่ำลามัคคุเทศก์ของทางการเฮลซิงกิแล้ว เราก็ทำการตรวจบัตรผ่านเพื่อลงเรือเดินทะเลลำมหึมาที่จอดเทียบท่าอยู่อย่างสงบนิ่ง เรือลำนี้เป็นเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ บรรทุกผู้โดยสารได้ 2,700 คน รวมลูกเรือมีห้องพักทั้งหมด 600 ห้อง แบ่งเป็น 16 ชั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ร้านค้าร้านอาหาร, บาร์, คาสิโน, ดิวตี้ฟรี, ดิสโก้เทค, สระว่ายน้ำ, ที่ออกกำลังกาย และอีกมากมาย ที่ทำให้สามารถเรียกเรือลำนี้ได้ว่า “เมืองลอยน้ำ” เราล่องเรือออกจากเฮลซิงกิ ในเวลา 17.00 น. ออกเดินทางข้ามทะเลบอลติค ตรงเข้าสู่ อาคิพิลาโก หรือ เกาะแก่งกลางทะเลของประเทศสวีเดน ลัดเลาะเข้าสู่กรุงสต๊อกโฮล์ม อาหารมื้อเย็นบนเรือก็เป็นอาหารแบบสแกนดิค บุฟเฟ่ต์ คือหนักไปทางผัก, ปลาและขนมปัง แต่ถ้าใครอยากรับประทานอาหารประเภทอื่นๆ ก็ต้องไปรับประทานตามร้านอาหารต่างๆที่มีให้บริการบนชั้น 7 รวมถึงร้านสะดวกซื้อแบบ 711 ที่มีเครื่องอุปโภคบริโภคจำหน่ายตามความจำเป็นของนักท่องเที่ยวบนเรือ

เช้าวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 เวลา 07.00 น. เรารับประทานอาหารเช้าบนเรือ เรียบร้อยแล้วก็กลับขึ้นห้องพักไปเตรียมตัวขึ้นฝั่งประเทศสวีเดน เวลา 09.00 น. ก็ได้เวลาเคลื่อนพลลงจากเรือ ซึ่งตอนขาขึ้นเราไม่ได้สังเกตผู้ร่วมเดินทางกันซักเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ตื่นตาตื่นใจกับตัวเรือและทัศนียภาพของเฮลซิงกิ แต่พอขาลงจากเรือเรากลับพบว่า เรือลำนี้ขนรถยนต์, รถจัรยายนต์แบบบิ๊กไบค์ มาด้วยเป็นจำนวนมาก รวมถึงรถเทรลเล่อร์ 18 ล้ออีก 4 คันที่บรรทุกสินค้ามาจากฝั่งเฮลซิงกิ ซึ่งก็เป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับคณะเรา ทั้งขาขึ้นและขาลงเลยที่เดียว ท่าเรือท่องเที่ยวที่สต๊อกโฮล์ม มีความสะดวกสบายพอกับที่เฮลซิงกิ แม้จะหรูหราเหมือนกับที่สิงคโปร์ แต่ก็มีความสะดวกพอสมควร ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ปรารภกับบรรดาผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นว่า ที่ภูเก็ตก็น่าจะทำได้ในรูปแบบเดียวกัน หลังจากเดินลงมาจากท่าเรือ รถบัสพร้อมไก๊ด์สาว ซึ่งเป็นคนละคนกับที่เฮลซิงกิ แต่ก็เป็นมัคคุเทศก์ 1 เดียวในสต๊อกโฮล์มที่สอบผ่านการเป็นไกด์ของทางราชการสวีเดน และมีอาชีพหลักเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีความสามารถพิเศษที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก คือ การที่เธอเป็นหญิงไทยคนแรกและคนเดียวที่พิชิตยอดเขาคีรีมันจาโร แห่งทวีปอาฟริกาได้สำเร็จ น่าทึ่งจริงๆครับ สำหรับในช่วงเช้าวันนี้ มัคคุเทศก์ของเราได้นำชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของวีเดนและนำชมบรรยายกาศของตัวเมืองสต๊อกโฮล์มโดยทั่วๆไป จนได้เวลานัดหมายกับทางเทศบาลสต๊อกโฮล์ม จึงได้นำคณะไปเข้าเยี่ยมชมศาลาว่าการ เทศบาลนครสต๊อกโฮล์ม เพื่อเข้าเยี่ยมชมสถานที่ทำงานและการปฏิบัติหน้าที่ของสภาเทศบาลนครสต๊อกโฮล์ม ซึ่งมัคคุเทศก์ของเราก็ได้อธิบายขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานให้เราได้รับทราบอย่างละเอียดทุกขั้นตอน หลังจากนั้นพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารจีนและมีเวลาว่างให้พักผ่อนตามอธยาศัยในช่วงบ่าย ก่อนจะนัดรัประทานอาหารเย็นอีกครั้งในช่วงเย็นที่ร้านอาหารไทยชื่อสวัสดี หลังอาหารค่ำก็เดินทางกลับเข้าที่พัก

เช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เวลา 08.30 น. หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว เราก็เช็คเอ๊าท์จากโรงแรมที่พักและออกเดินทางโดยรถโค้ช อำลากรุงสต๊อกโฮล์มเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงออสโล เมืองหลวงของประเทศนอรเวย์ ระยะทาง 530 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ใน 2 ชั่วโมงแรกของการเดินทางหลายคนคงจะยังสลึมสลือกันอยู่ ก็เลยมีแต่ความเงียบบนรถ แต่พอกลับจากการจอดพักรถก็รู้สึกเริ่มพอจะมีแรงกันบ้าง คุณซี หัวหน้าทัวร์ ก็เลยนำประวัติศาสตร์ของไวกิ้งมาเล่าให้ฟังกันพอสนุกสนานจนอีก 1 ชั่วโมงเศษ รถก็เดินทางมาถึงเมือง คาลร์สตัด ของประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบแวนเนิร์น (306 ก.ม) ที่ยังความเป็นชนบทในแบบดั้งเดิมที่ชาวนอร์ดิก อาศัยมาแต่โบราณกาลกว่า 1,000 ปี อยู่เกือบตรงกลางระหว่างทางไปออสโล เราพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่นี่ ซุปเห็ดของที่นี่ ทำให้ผมต้องเติมซ้ำ เพราะอร่อยจนลืมไม่ลงเลยทีเดียว แม้แต่ท่านผู้ว่าฯ ก็ยังเอ่ยปากว่าซุปอร่อยจริงๆ ทำให้รับประทานปลาแซลม่อน อบซ้อสไวน์ขาวได้เพียงครึ่งชิ้นเท่านั้น ก็อิ่มแปล้เลยที่เดียว หลังอาหารกลางวันกลับขึ้นรถเดินทางต่อ สภาพภูสิประเทศสองข้างทางส่วนใหญ่ก็มีความคล้ายคลึงกัน มีความสวยงามของทะเลสาบ, ทุ่งนาข้าวไรน์และบาเล่ย์ สลับกับแมกไม้สนที่เขียวขจีและบ้านสีสดใส แต่นี่เป็นน่าร้อนนะครับ หลังจากนี้อีก 2 เดือน พออย่างเข้าฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายนก็จะเห็นแต่หิมะขาวโพลไปหมดเหมือนกัน เราเดินทางมาถึงกรุงออสโล ในเวลา 16.30 น. รวมเวลาพักรถ 2 ครั้งและรับประทานอาหารกลางวัน ใช้เวลาไปประมาณ 6 ชั่วโมง เมื่อเราไปถึง คุณซี นำเราไปเดินชมบริเวณย่านจัตุรัสใจกลางเมืองออสโล ซึ่งก็มีความสวยงามทีเดียว ออสโลเป็นเมืองเล็กๆแต่ก็มีสิ่งที่จำเป็นสำหรับเมืองหลวงของประเทศครบเครื่องอยู่เหมือนกัน และเนื่องจากเป็นเมืองที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม จึงไม่พบเห็นสิ่งที่เป็นความทันสมัยมากนัก แตกต่างไปจากเมืองหลวงในที่อื่นๆหรือแม้แต่ใน กทม. ของเราเอง โดยลักษณะภูมิประเทศของ กรุงออสโล ตั้งอยู่ขอบด้านเหนือของอ่าวฟยอร์ด ที่ชื่อ ออสโลฟยอร์ด ตัวเมืองประกอบด้วยเกาะ 40 เกาะ เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ มัลโมย่า นอกจากนี้ยังมีทะเลสาบ 343 แห่งซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญเมือง จากคำบอกเล่าตามตำนานของเผ่านอร์ส ออสโลก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1048 แต่หลักฐานทางโบราณคดีสามารถบอกได้ว่า ที่ออสโลมีคนอยู่อาศัยมาก่อน ค.ศ. 1000 เราใช้เวลาเพลิดเพลินกับการชมสถาปัตยกรรมโบราณจนได้เวลาเย็น จึงเดินทางไปรับประทานอาหารเย็นกัน มื้อนี้เป็นอาหารไทย ที่รับประทานอาหารไทยกันค่อนข้างบ่อย ไม่ใช่ว่าเราจำเป็นหรือรับประทานอาหารอย่างอื่นไม่ได้ แต่เป็นเพราะเราต้องการอุดหนุนคนไทยด้วยกันเป็นประการที่หนึ่ง และ ราคาอาหารไทยและอาหารจีน เมื่อคิดต่อหัวแล้วมีราคาถูกว่าอาหารยุโรป เป็นประการที่สอง และ ที่สำคัญคือ ร้านอาหารไทยหรืออาหารจีน มีความจุของจำนวนโต๊ะที่สามารถจัดให้รับประทานอาหารแบบกรุ๊ปทัวร์ได้ คือโต๊ะละ 8 – 10 คน นี่คือเหตุผลหลักๆที่มาที่ไปของการที่ทัวร์คนไทยต้องรับประทานร้านอาหารจีนและไทย หลังรับประทานอาหารเสร็จ เราก็เดินทางเข้าที่พักซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโอเปร่า ฮอลล์ ที่สร้างขึ้นใหม่ในทะเล ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก

เช้าวันที่ 1 สิงหาคม 2554 รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินทางไปชมสภาพภูมิประเทศทั่วๆไปของกรุงออสโล วันนี้ไม่มีมัคคุเทศก์ เพราะเรามีคนขับรถผู้ชำนาญทางจากสต๊อกโฮล์มอยู่กับเรา ชื่อโจชัว ซึ่งในเวลาปกติ เค้าจะเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์อยู่ในโรงเรียนมัธยมที่สต๊อกโฮล์ม และเมื่อโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อนก็จะทำอาชีพเสริมด้วยการขับรถโค้ชท่องเที่ยว อาจารย์คนนี้แกมีอารมณ์ขันดีพอสมควรและเป็นคนง่ายๆ ชอบเมืองไทยมาก เค้าพาเราไปเที่ยวชมย่านเมืองเก่าของออสโลและสถานที่ประสาทรางวัลโนเบล ของมิสเตอร์อัลเฟรด โนเบล รวมถึงสิ่งที่ออสโลสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกคือสถานที่แข่งขันสกีเหิรเวลาหรือสลาลม ซึ่งสถานที่นี้ใช้สำหรับแข่งขันกีฬาโอลมิปิคฤดูหนาวมาเป็นเวลานานมาก ต่อจากนั้นก็ไปชมพิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง ที่เก็บซากเรือไวกิ้งที่สมบูรณ์ที่สุดตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 หรือ กว่า 1,000 ปีมาแล้ว และเครื่องมือเครื่องใช้ก็ยังอยู่ครบถ้วน จากนั้นคณะของเราก็เดินทางต่อไปชมสวนพฤกษชาติที่ชื่อ ฟลอกเน่อร์ ปาร์ค เป็นสวนประติมากรรมกลางแจ้งในใจกลางกรุงออสโล ที่เป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากที่สุด เพราะได้รวบรวมผลงานของศิลปินเอกคนหนึ่งของโลกด้านประติมากรรมที่ชื่อ กุสตาฟ วีเกแลนด์ ไว้เกือบครบทุกชิ้นใครไปเที่ยวนอร์เวย์แล้วไม่ได้แวะไปชมแสดงว่าไปไม่ถึงนอร์เวย์ โดยรูปปั้นหินเหล่านี้จะแสดงเกี่ยวกับวัฏจักรของชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตายโดยเฉพาะเสาหิน “โมโนลิธ" กลางสวนที่สูงถึง 17 เมตร ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จากนั้น เราก็ไปรับประทานอาหารกลางวันกัน โดยมื้อนี้เป็นอาหารเส้นแบบไทยๆ หรือ ก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง หลังจากอาหารกลางวัน ในช่วงบ่าย คณะเรามีนัดกับทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงออสโล และ ทางสำนักงานบริหารการท่องเที่ยวแห่งเมืองออสโล เราใช้ระบบจีพีเอส นำทางไปยังสถานทูตไทย ซึ่งอาจารย์โจชัวร์ ของเราเชื่อเจ้าเครื่องนี่มาก จึงทำให้ต้องเสียเวลากับการวนหาทางเข้าอยู่เกือบ 30 นาทีจากถนนใหญ่ แล้วยังมาเจอถนนปิดบล็อก แต่ก็มาถึงได้ในที่สุด คณะของเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่งจาก ฯพณฯท่าน จุลพงษ์ โนนศรีชัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล และ คุณพรรณภา จันทรารมณ์ อัครราชทูต พร้อมเจ้าหน้าที่สถานทูต

ท่านทูตจุลพงษ์ ได้ให้เกียรติบรรยายสรุปเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ต ให้กับคณะได้รับทราบ ต่อจากนั้น ได้ให้นายทอร์ แซนเนอร์รูด ผู้อำนวยการใหญ่ (สูทสีน้ำเงินเข้ม)และ คุณไฮดี้ ธอร์น (เสื้อลายแถวหน้า) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด จากสำนักงานบริหารการท่องเที่ยวออสโล เป็นผู้บรรยายสรุปในเรื่องของการบริหารการท่องเที่ยวโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นของกรุงออสโล

ซึ่งคุณทอร์ ได้อธิบายว่า VISIT OSLO เป็นหน่วยงานที่เกิดจากภาคธุรกิจเอกชนด้านการท่องเที่ยวและภาคราชการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันลงเงินเพื่อเป็นทุนจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาดูแลในเรื่องของการขายและการตลาด รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารแก้นักท่องเที่ยว หรือ Tourist Information Office และจะมีรายได้จากการเสนอขายสินค้าทางการท่องเที่ยวในระบบผูกขาด เช่น การขายบัตร OSLO PASS ที่สามารถใช้ได้ตามอายุและราคาบนบัตร เช่น 24 ชั่วโมง, 48 ชั่วโมง หรือ 72 ชั่วโมง โดยที่ผู้ซื้อจะเสียค่าบัตรในครั้งเดียวแต่สามารถใช้เป็นบัตรสำหรับขึ้นรถราง, รถไฟ, รถบัส, เรือข้ามฟาก, ค่าผ่านประตูทุกชนิด, ฟรีที่จอดรถของเทศบาล หรือ ลดราคาสำหรับ ร้านค้า, ร้านอาหาร และ เครื่องเล่นต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่จัดทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเชื่อมโยงกับการขาย, การตลาด และการจัด Event ต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ หลังจากนั้นก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นได้สอบถามปัญหา โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง คณะจึงได้อำลากลับ ก็ต้องขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโลและเจ้าหน้าที่ทุกทาน โดยเฉพาะคุณพรรณนาภา จันทรารมณ์ อัครราชทูต ไว้ ณ ที่นี้

ออกจากสถานเอกอัครราชทูตไทย คณะก็เดินทางกลับที่พักเพื่อพักผ่อนตามอัธยาศัย แต่คณะส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจเดินทางไปดูสถานที่เกิดเหตุวางระเบิดใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีและได้ร่วมไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์จากเหตุสังหารหมู่ที่แคมป์ฤดูร้อน ด้วยการวางดอกไม้สด ที่บริเวณหน้าศาลาว่าการเมืองออสโล

เช้าวันที่ 2 สิงหาคม 2554 อากาศดีมากครับในเช้าวันนี้ หลังรับประทานอาหารเช้าแล้ว คณะของเราก็เตรียมตัวเดินทางไปยังสนามบินนานาชาติการ์เดอร์เมิน ห่างออกไปจากกรุงออสโลประมาณ 45 กิโลเมตร เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงโคเปนเฮเก้น เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก อย่าเพิ่งสงสัยนะครับว่า แล้วไอ้ที่บรรยายมาตั้งยืดยาวจนจะจบการเดินทางอยู่แล้ว ยังไม่เห็นมีความสัมพันธ์กับหัวเรื่องที่จั่วไว้เลย ว่าเกี่ยวข้องกันตรงไหนกับ 38 ปีที่รอคอย หรือแอบไปเจอใครที่หายหน้าไปถึง 38 ปีเหรอ ใจเย็นครับ เดี๋ยวเราก็จะได้รู้กันแล้วว่าภารกิจที่ 2 ของผมกับหัวเรื่องที่จั่วไว้ จะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที เครื่องบินของสายการบิน SAS ก็เดินทางมาถึงสนามบินคาสทรูป ที่โคเปนเฮเก้น มีเรื่องระทึกเกิดขึ้นที่นี่ครับ เพราะระหว่างที่รอกระเป๋าที่สายพานอยู่นั้น คณะของเราก็มองเห็นกระเป๋ามากมายถูกวางทิ้งไว้ ทั้งที่บนสายพานและข้างนอกสายพาน ทำให้เกิดการสอบถามกันว่าเป็นกระเป๋าของใครกัน บังเอิญว่าไก๊ด์อาชีพ หนุ่มน้อย แก่มาก ของเราที่ชื่อ ลุงแบรด เดินเข้ามาต้อนรับพอดี ก็เลยได้อธิบายให้ฟังว่า เป็นกระเป๋าที่ตามมาหลังจากผู้โดยสารมาถึงแล้ว ก็ต้องนำไปไว้ที่ Lost and Found ในภายหลัง สาเหตุเพราะความผิดพลาดตอนโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่อง เท่านั้นแหละครับ เสียงสวดมนต์ภาวนาก็ลั่นระงม เพราะยืนรอกันมา 20 นาทีแล้วยังไม่เห็นวี่แววกระเป๋าจะมา แต่พออีกซักพักใหญ่กระเป๋าใบแรกก็ออกมาแล้วก็ค่อยๆทยอยตามา จนคาดว่าน่าจะครบแล้ว คุณซี ก็เรียกแถวตอนเรียงหนึ่งเดินแถวออกไป แต่ มีแต่ ครับ ยังมีอีก 2 ใบยังไม่ออกมา เอาล่ะซิ ทีนี้จะทำไงดี รออยู่จนเกือบชั่วโมงก็ยังไม่มา เที่ยวบินอื่นก็มีกระเป๋าออกมาแล้วบนสายพานเดียวกัน ลุงแปรดก็เลยเตรียมจะไปแจ้งกระเป๋าหาย แต่แล้วในที่สุดโชคดีก็เป็นของคณะเราเสมอ เพราะกระเป๋า 2 ใบสุดท้ายก็ออกมาปะปนกับเที่ยวบินอื่นจนได้

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการต่างๆที่สนามบินแล้ว เราก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองโคเปนเฮเกน โดยมุ่งตรงไปที่ร้านอาหารไทยเพื่อแวะรับประทานอาหารกลางวันกัน สำหรับวันนี้ ไก่ต้มข่าและปลาทอดกระเทียมพริกไท อร่อยสุดๆ หลังจากที่เราอิ่มหนำสำราญกันแล้ว ก็ออกลุยทันที จุดแรกที่ไปคือ เงือกน้อยกลอยใจ สัญลักษณ์ของเมืองโคเปนเฮเกน ซึ่งบริษัทเบียร์บริษัทหนึ่งได้สร้างไว้แล้วยกให้เป็นของหลวง ทีนี้พอคนไปถ่ายรูปกันมากๆเข้าก็เลยเกิดเป็นเทพนิยายเล่ากันไปปากต่อปากเลยโด่งดังไปทั่วโลกจนบัดนี้ เงือกน้อยที่สงขลาก็จำลองมาจากอันนี้แหละครับ แต่ของเค้าเงือกจะเป็น 2 ปลายหาง แต่ของเรามีปลายหางเดียว หลังจากนั้นก็ไปแวะชมพิพิธภัณฑ์เครื่องอิสริยาภรณ์ของกษัตริย์และราชินีเดนมาร์กองค์ปัจจุบันที่พระราชวังฤดูร้อนเอมิเลี่ยนบอร์ก ด้านนอกยังคงต้องมีการ์ดหรือยามรักษาการณ์เฝ้าอยู่ตลอดเวลา

ในช่วงบ่ายวันนี้ แหละครับ จะเป็นที่มาของหัวเรื่องที่บอกเอาไว้ว่า 38 ปีที่รอคอย เพราะเรามีนัดกับคุณปรีชา ณ วงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน ประจำโคเป็นเฮเกน แต่เนื่องจากสำนักงานของการบินไทยค่อนข้างเล็ก จึงต้องแบ่งเอาเฉพาะชุดเจรจาความชุดขนาดเล็ก ซึ่งประกอบด้วย นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายประเจียด อักษรธรรมกุลหัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต, ว่าที่ร้อยตรี วิกรม จากที่, ตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่น นายอรุณ โสฬส นายกเทศบาลตำบลราไวย์ และผู้เขียน เมื่อได้เวลานัก 14.30 น. เราก็เดินทางไปยังสำนักงานการบินไทย พบว่าคุณปรีชา ณ วงศ์ ได้ลงมายืนรอต้อนรับอยู่แล้ว และได้นำเราขึ้นไปเยี่ยมชมสำนักงานที่ชั้น 4 จากนั้น ได้นำไปยังห้องประชุมเพื่อหารือเรื่องสำคัญสำหรับจังหวัดภูเก็ต หลังจากทักทายและดื่มน้ำชากาแฟกันพอสมควรแล้ว ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ก็ได้เริ่มเปิดการเจรจาในเรื่องที่ การบินไทย มีแนวโน้มที่จะเปิดเส้นทางบินตรงไปยังจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นและหากทาง การบินไทย ต้องการที่จะให้ทางจังหวัดภูเก็ตและทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนอย่างไรก็ให้นำเสนอมาในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้นำไปหารือและให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้านคุณปรีชา ณ วงศ์ ก็ได้บรรยายสรุปว่า เวลานี้ ทางโคเปนเฮเกน ได้ร้องขอไปทางสำนักงานใหญ่ เพื่อขอเปิดเส้นทางบินตรงระหว่าง โคเปนเอเกน – ภูเก็ต สับดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ในช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนเมษายน และได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการได้ โดยจะเริ่มทำการบินเที่ยวปฐมฤกษ์ในวันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 หลังจากที่ การบินไทย ร่วมกับ SAS ได้ทำการบินเที่ยวปฐมฤกษ์จากโคเปนเฮเกน ตรงเข้าสู่ ดอนเมือง เมื่อ 38 ปีที่แล้ว และครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ที่ การบินไทย จะเปิดเส้นทางตรงจากยุโรปสู่ภูเก็ต เป็นครั้งที่สอง ห่างจากครั้งแรก 38 ปี และจะเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์เที่ยวบินแรกของการบินไทย จากยุโรปที่บินตรงเข้าสู่ภูเก็ต

นี่แหละครับ 38 ปีที่รอคอย เพราะนั่นแสดงถึงศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตที่มีต่อตลาดการท่องเที่ยวของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสแกนดิเนเวียและนอร์ดิค ที่รวมเอาประเทศในกลุ่มเบเนลักซ์ เข้าไปด้วย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์เที่ยวนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับจังหวัดภูเก็ตและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูเก็ตเองด้วย คุณเฟลมมิ่ง ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ของการบินไทยที่นี่ กล่าวเพิ่มเติมให้เราฟังว่า การขายที่นั่งในขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมากเพราะในช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์ ขายได้เฉลี่ยมากกว่า ร้อยละ 70 และพฤศจิกายน, มีนาคมและเมษายน ขายได้เฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 45 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ซึ่งก็ต้องถือว่าอยู่ในเกณฑ์ตอบรับที่ดีมาก หลังจากประชุมหารือกันอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง เราก็ลากกลับด้วยความยินดีที่ภารกิจที่ 2 ของผมก็สำเร็จเรียบร้อยลงไปอย่างสมบูรณ์

จากนั้น เราก็กลับมารวมกับคณะใหญ่ และไปเดินชมย่านถนนคนเดินของเมืองโคเปนเฮเกน ที่ได้ชื่อว่ามีความยาวที่สุดในโลกและมีนักท่องเที่ยวเดินกันหนาแน่นมากในวันนั้น ผมเองเดินตรงไปยังย่านท่าเรือและไปหามุมสวยๆถ่ายรูปอยู่พักใหญ่ ก่อนจะเดินกลับมารวมกับคณะ แล้วก็ขอแยกไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกับคุณเจษฎา พิชัยพรหม ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสถานีการบินไทย อยู่ที่โคเปนเฮเกน นั่งสนทนาธรรมกันอยู่จนถึง 4 ทุ่มเศษ ก็ลากลับโรงแรมที่พักเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ก่อนออกเดินทางกลับ

เช้าวันที่ 3 สิงหาคม 2554 หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว เราก็ออกเดินทางไปแวะห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใกล้ๆสนามบินเพื่อซื้อของฝากกันคนละเล็กคนละน้อย จำพวกขนมนมเนยช๊อกกาแล็ตและผลไม้ กลับมาเป็นของฝากทางบ้าน เราออกเดินทางจากโคเปนเฮเกนเมื่อเวลา 14.30 น. และมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในเช้าวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ก่อนที่จะต่อเครื่องกลับมาภูเก็ต และมาถึงจังหวัดภูเก็ตในเวลา 10.25 น. โดยสวัสดิภาพ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป

สรุปโดยรวมแล้ว สิ่งที่ได้มาจากการเดินทางในครั้งนี้ คือ การที่เราได้ศึกษาถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวสแกนดิเนเวีย, การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น, การจัดวางระบบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน, การส่งเสริมการตลาดในการต้อนรับเที่ยวบินตรงสู่จังหวัดภูเก็ตของสายการบินไทย ซึ่งคาดหวังว่า จังหวัดภูเก็ตสามารถที่จะพัฒนาระบบและศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ให้มีมากขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้มาจากการเดินทางในครั้งนี้ แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป.



ผู้ตั้งกระทู้ ภูริต มาศวงศ์ศา :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-19 11:43:39


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล