ReadyPlanet.com


จับตากฎหมายใหม่สหรัฐฯว่าด้วยการรับผิดด้านอาหารปลอดภัย


จับตากฎหมายใหม่สหรัฐฯว่าด้วยการรับผิดด้านอาหารปลอดภัย

          วุฒิสภาสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการรับผิดด้านอาหารปลอดภัย เพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการ หากทำผิดติดถึง ๑๐ ปี หวังปกป้อง – สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค มกอช. แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมปรับตัวรับผลกระทบ

          นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการรับผิดด้านอาหารปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๔  หรือ Food Safety Accountability Act of 2011 อย่างเป็นเอกฉันท์แล้ว เพื่อปกป้องและทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหารมากยิ่งขึ้น โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ได้เพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารโดยตั้งใจ อาทิ กรณีวางจำหน่ายอาหารปนเปื้อนสารตกค้างในท้องตลาดทั้งที่รู้ว่าอาหารนั้นปนเปื้อน หรือการปลอมแปลงเครื่องหมายทางการค้า จนเป็นเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  ซึ่งต้องถูกปรับตามมาตรา ๑๘ ของ United States Code หรือจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ปัจจุบันร่างกฎหมาย Food Safety Accountability Act of 2011 อยู่ระหว่างการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง หากผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาจะนำเสนอให้นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยกฎหมายของสหรัฐฯฉบับใหม่นี้ มีแนวทางคล้ายกับกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ของไทย ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจากสินค้าที่ผลิตต้องมีผู้รับผิดชอบ 

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า ภายหลังสหรัฐฯออกกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารฉบับใหม่เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ให้ความสำคัญและเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารมากยิ่งขึ้น หากกฎหมายว่าด้วยความรับผิดด้านอาหารปลอดภัยมีผลบังคับใช้ก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายฉบับแรก ในฐานะที่สหรัฐฯเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยแต่ละปีมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยปีละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสหรัฐฯ ต้องติดตามความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ปรับตัวและเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที  

“ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกต้องประเมินความปลอดภัยทางอาหาร ในระบบการผลิตของตนเอง ตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงคัดบรรจุ (Packing House) โรงงานแปรรูป ตลอดจนการขนส่งไปยังตลาดปลายทาง ทุกขั้นตอนต้องมีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อน และควรติดตามตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้า หากเตรียมความพร้อมเอาไว้ นอกจากจะช่วยเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรและอาหารไทยแล้ว ยังจะได้เปรียบคู่แข่งและโอกาสทางการตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยผลักดันปริมาณและมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสหรัฐฯได้เพิ่มสูงขึ้น”  ผอ.มกอช. กล่าว



ผู้ตั้งกระทู้ มกอช. :: วันที่ลงประกาศ 2011-05-26 13:19:12


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล