ReadyPlanet.com


ภูเก็ตเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลาย


เมื่อเวลา 09.15 น.วันที่ 9 กันยายน 2553 ที่ห้องประชุมโรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุม “รวมพลังพหุภาคี เร่งรัดมาตรการ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อปกป้องครอบครัวชุมชน คนที่รัก จากยุงลายและไข้เลือดออก” กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน โดยภาคเช้ามีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ครูอนามัยโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประมาณ 250 คน ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการประชุมอาสาสมัครสาธารณสุขทั้งจังหวัด และผู้แทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประมาณ 400 คน
            นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศ มีแนวโน้มสูง พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้มีอัตราป่วยสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สำหรับจังหวัดภูเก็ตมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง คือ มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในอาคารบ้านเรือน ชุมชน สถานศึกษาสถาน สถานที่ทำงาน และศาสนสถาน ทั้งนี้จากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย พบว่า ภาชนะขังน้ำตามอาคารบ้านเรือน โรงเรียน ชุมชนและสถานที่อื่นๆ มีลูกน้ำยุงลายเกินเป้าหมายที่กำหนด ประกอบกับขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน ก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดภูเก็ต
            ดังนั้นเพื่อเร่งรัดมาตรการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกพื้นที่ และดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายภายในบ้าน ชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ศาสนสถาน หน่วยงานรัฐ เอกชนอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ จังหวัดภูเก็ตจึงได้จัดประชุม “รวมพลังพหุภาคี เร่งรัดมาตรการ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อปกป้องครอบครัวชุมชน คนที่รัก จากยุงลายและไข้เลือดออก” ขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากพหุภาคีในการดำเนินการ พร้อมกันทุกภาคส่วนในการเร่งรัดกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกพื้นที่ให้มีจำนวนลดลง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาและเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์วิวัฒน์กล่าว
            นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นมีรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วประมาณกว่า 300 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดจิตสำนึกในการดูแลภาชนะที่มีน้ำท่วมขังตามอาคารบ้านเรือน และสถานที่ต่างๆ และการใช้สารเคมีฉีดพ่นก็ไม่ค่อยมีผลมากนัก เพราะพบว่าปัจจุบันยุงมีการดื้อยา 70-80% จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการร่วมรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป พร้อมฝากเตือนผู้ที่ป่วยมีไข้สูงอย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการให้ชัดเจน


ผู้ตั้งกระทู้ ปราบ :: วันที่ลงประกาศ 2010-09-09 15:33:13


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล