วิธีสร้างบุญบารมี
พุทธโลยี : วิธีสร้างบุญบารมี พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วิธีสร้างบุญบารมี บุญ ความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ของ พระพรหมคุณาภรณ์ กล่าวว่า บุญ คือเครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ กุศลธรรม บารมี คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ การให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา ที่นิยมเรียกว่า ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งการให้ทานหรือการทำทานนั้นเป็นการสร้างบุญที่ต่ำที่สุด ได้บุญน้อยที่สุด ไม่ว่าจะทำมากอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการถือศีลได้ การถือศีลนั้นแม้จะมากอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากเกินไปกว่าการเจริญภาวนาได้ ฉะนั้น การเจริญภาวนานั้น จึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดได้ มากที่สุด ในทุกวันนี้เรารู้จักแต่การให้ทานอย่างเดียว เช่น การทำบุญตักบาตร ทอดกฐิน ผ้าป่า สละทรัพย์สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ส่วนการถือศีล แม้จะได้บุญมากกว่าการทำทาน ก็ยังมีการทำกันเป็นส่วนน้อย เพื่อความเข้าใจอันดี จึงขอชี้แจงการสร้างบุญบารมีอย่างไรจึงจะเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุด แต่ได้บุญบารมีมากที่สุด ดังนี้คือ
๑. การทำทาน การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่อยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้นจะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ 3 ประการ ถ้าประกอบหรือถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบ 3 ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ องค์ประกอบข้อ 1 . วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์ วัตถุทานที่ให้ ได้แก่ สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งที่ตนได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยทุจริต ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ฯลฯ ตัวอย่างที่ 1 ได้มาโดยการเบียดเบียนชีวิตเลือดเนื้อสัตว์ เช่น ฆ่าสัตว์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะนำเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระเพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทานคือ เนื้อสัตว์นั้นเป็นของไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไป ก็ย่อมได้บุญน้อย จนเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีก หากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การที่ได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตวนั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์ก็ดี เนื้อสัตวน์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทานย่อมได้บุญมากหากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่นๆด้วย ตัวอย่างที่ 2 ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมตลอดถึงการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ทรัพย์นั้นย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน แม้จะ ผลิ ดอกออกผลมาเติม ดอกผลนั้นก็ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า บริโภคโดยความเป็นหนี้ แม้จะนำเอาไปทำบุญ ให้ทาน สร้างโบสถ์วิหารก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างใด สมัยหนึ่งในรัชกาลที่ 5 มีหัวหน้าสำนักนางโลมชื่อว่า ยายแฟง ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตนจากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง 25 สตางค์ แกจะชักเอาไว้ 5 สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ 2,000 บาท แล้วจึงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้วแกก็ปลื้มปิติ นำไปมนัสการถามหลวงพ่อโตวัดระฆังว่า การที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมดจะได้บุญบารมีอย่างไรหลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ 1 สลึง แกก็เสียใจเหตุที่ได้บุญน้อยก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจให้ ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายที่ซื้อของถูกๆ แต่ขายแพงๆ จนเกินส่วนที่ควรจะได้ ผลกำไรที่ได้มาเพราะความโลภจัดจนเกินส่วนนั้นย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์โดยนัยเดียวกัน วัตถุทานที่บริสุทธิ์เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าวไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของดีหรือเลว ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือ น้อยค่า หรือค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัธาที่ตนมีอยู่ องค์ประกอบข้อ 2. เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์ การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่น ความหวงแหน หลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน 1 ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะให้ทานก็มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของตน 2 ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังลงมือให้ทานอยู่นั้นเองก็ทำด้วยจิตโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานไปในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น 3 ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปเล้วครั้งใดก็มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้นๆ
เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่จิตโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องมาจากเมตตาจิตที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์และให้ได้รับความสุขเพราะทานของตน นับว่าเป็นเจนตนาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้จะทำให้ยิ่งๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ให้ทานนั้นได้ทำทานด้วยวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือไม่ใช่ทำทานอย่างเดียวแต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญาโดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งปวงที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงแต่วัตถุธาตุประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และได้ผ่านการเป็นเจ้าของของผู้อื่นมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านแต่ก่อนนั้นต่างก็ได้ล้มหายตายจากไปทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลย จนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ได้ยึดถือเพียงชั่วคราวแล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่นๆ ต่อๆ ไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้ จึงนับว่าเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลง นับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นว่านั้นเป็นของเราได้ถาวรตลอดไป แม้ตัววัตถุดังธาตุดังกล่าวนี้เอง จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไปไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็เฒ่าแก่และตายไปในที่สุดเราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญาดังกล่าวมาแล้วด้วยเจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่งๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อยเป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่ ก็คือ การทำทานนั้นอย่าได้เบียดเบียนตนเอง เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มากๆ จนเกิดกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้ว ตนเองและสามี ภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบากขาดแคลน เพราะไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ได้ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์คือ ตัวอย่างมี่ 1 ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่นสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่าทำทานด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ ตัวอย่างที่ 2 ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียหาย เช่นมีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัธทาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้าง แต่ทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งนึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย ที่จะได้ก็คือบาป ตัวอย่างที่ 3 ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่นทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้ร่ำรวยเศรษฐีมหาเศรษฐี ทำทาน 100 บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งสลากกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆ ก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่มาให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะพอกพูนเพิ่มให้มากขึ้นและหนาขึ้น คือ ความโลภ ผลหรืออานิสงส์ของการทำทาน ที่ครบองค์ประกอบ 3 ประการนั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วนย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วง เมื่อรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุดต้นไม้ก็จะต้องเจริญและผลิตดอกออกผลตามมา สำหรับผลของทานนั้น หากน้อยหรือมีกำลังไม่มากนักย่อมน้อมนำให้บังเกิดในมนุษย์ชาติหากมีกำลังแรงมากก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลกรรมอื่นแทรกให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินและร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปเพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวันใดย่อมสุดแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อน ๆ จะส่งผล คือ ๑. ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือ ก่อนที่จะลงมือทำทานก็มีจิตเมตตาโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ หากเจตนาในการทำทานนั้นไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันครบ 3 ระยะแล้ว ผลทานนั้นก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่าจะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น โดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทานเกิดจิตเศร้าหมองเพราะหวนคิดเสียดายหรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉยๆ แต่ก็ยังฝืนใจทำทานไปเพราะเสียไม่ได้หรือเพราะตามพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้ ผลทานย่อมหมดกำลังให้ผลในระยะที่ 2 ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติวิบัติหายนะ ไปด้วยประการต่าง ๆ แม้จะได้รับมรดกมาก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ หากเจตนาในการทำทานนั้นเศร้าหมองในระยะที่ 3 คือทำทานไปแล้วหวนคิดขึ้นมาทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะก็มีผลต่อเนื่องมาจนถึงบั้นปลายชีวิตด้วย คือทรัพย์สินคงวิบัติเสียหายต่อเนื่องจากวัยกลางคน ตลอดไปจนถึงตลอดอายุขัยชีวิตจริงของผู้ที่เกิดบนกองเงินกองทองก็มีให้เห็น เป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดกแล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้น แต่ก็ต้องล้มละลายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม 3 ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอคือ ร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคน และจนปัจฉิมวัย ๒. ร่ำรวยในวัยกลางคน การที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้นสืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ 2 กล่าวคือไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทานก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดจะทำทานมาก่อนแต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุบางอย่าง เช่น ทำตามพวกพ้องอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ย่อมทำให้มาบังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองมาในวัยต้น ครั้นเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการหรือธุรกิจที่ทำก็ประสบความสำเร็จรุ่งเรือง และหากเจตนาในการทำทานได้งามบริสุทธิ์ในระยะที่ 3 ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้น ย่อมส่งผลรุ่งเรืองตลอดไป จนถึงบั้นปลายชีวิต หากเจตนาในการทำทานไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ 3 แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็ล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้เพราะผลทานหมดกำลังส่งผลไม่ตลอดจนถึงบั้นปลายชีวิต 3. ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนางามไม่บริสุทธิ์ในระยะแรกและระยะที่ 2 แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ 3 กล่าวคือ ก่อนและในขณะที่ลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่เมื่อได้ทำไปแล้วต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริงยินดีเบิกบานหากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนข้นแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนและขวนขวายสร้างตนเองมากตั้งแต่วัยต้นจนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการงานนั้นเจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริงๆ ของคนประเภทนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก องค์ประกอบข้อ 3 “เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์” คำว่า “เนื้อนาบุญ” ในที่นี้ได้แก่ บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อ 1 และ ข้อ 2 จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือ วัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะแต่ตัวผู้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดีไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา 1 กำมือ แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม (วัตถุทานบริสุทธิ์) และผู้หว่านคือ กสิกร ก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป็นอาชีพ (เจตนาบริสุทธิ์) แต่หากที่นานั้นเป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมดีก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำ ก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียแล้ว การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ “บุญ” หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือ บุญก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะแกรนหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่าง ๆ ฉะนั้น ในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทานจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้นหากเป็นผู้ที่มีศีลมีธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น คือได้บุญน้อย ฉะนั้นคติโบราณที่กล่าวว่า “ทำบุญอย่าถามพระ หรือตักบาตรอย่าเลือกพระ” เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะในสมัยนี้ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อนๆ ที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร โดยมุ่งจะทำมรรคผลและนิพพานให้แจ้งท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ 4 ประการ “บวชเป็นประเพณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน” ธรรมวินัยใด ๆ ท่านไม่สนใจ เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระและเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว ซึ่งป่วยการจะกล่าวไปถึงศีลปาฏิโมกข์ 227 ข้อ แม้แต่เพียงแค่ศีล 5 ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าท่านจะมีหรือไม่ การบวชที่แท้จริงแล้วก็เพื่อจะละความโลภ โกรธ และหลง ปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ หากเราได้เคยสร้างสม อบรม สร้างบารมี มาด้วยดีในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนาน้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทำทานครั้งใดก็มักโชคดี ได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง หากบุญวาสนาของเราน้อยและไม่มั่นคง ก็จะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง ได้พบกับอลัชชีบ้าง คือดีและชั่วคละกันไป เช่นเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่งสลากกินรวบ หากมีวาสนาบารมีเพราะได้เคยทำบุญให้ทานฝากกับสวรรค์ไว้ในชาติก่อน ๆ ก็ย่อมมีวาสนาให้ถูกรางวัลได้ หากไม่มีวาสนาเพราะไม่เคยทำบุญทำทานฝากสวรรค์เอาไว้เลย ก็ไม่มีสมบัติสวรรค์อะไรที่จะให้เบิกได้ อยู่ๆ ก็จะมาขอเบิก เช่นนี้ ก็ยากที่จะถูกรางวัลได้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ 1. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี 2. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล 5 แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม 3. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 5 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าว แก่ผู้ที่มีศีล 8 แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 4. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 8 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้ที่มีศีล 10 คือ สามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 5. ถวายทานแก่สามเณร ซึ่งมีศีล 10 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร 227 ข้อ พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร 227 ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น “พระ” แต่เป็นเพียงพระสมมติเท่านั้น เรียกกันว่า “สมมติสงฆ์” พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น พระ ทั้งสิ้นและพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้ 6. ถวายทานแก่พระสมมติสงฆ์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตตผลแต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น) 7. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 8. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 9. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 10. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 11. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 12. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 13. ถวายทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา การเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทาง อันเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่อง กับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน 14. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง (100 หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่ากว่าการให้ ธรรมทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้ธรรมทานก็คือ การเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่ง ๆ ขึ้น ให้ได้เข้าใจในมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฏฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ 15. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ อภัยทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม่แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ “โทสกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร 4 ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร 4 นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคี บุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร 4 ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง “พยาบาท” ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง อย่างไรก็ดี การให้อภัยทาน แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทาน อื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า “ฝ่ายศีล” เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนขั้นต่างกัน ๒. การรักษาศีล
“ศีล” นั้น แปลว่า “ปกติ” คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับ คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 และในบรรดาศีลชนิดเดียวก็ยังจัดแยกออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง) และอธิศีล (ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์) คำว่า “มนุษย์” นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไปก็คือศีล 5 บุคคลที่ไม่มีศีล 5 ไม่เรียกว่า มนุษย์ แต่อาจจะเรียกว่า “คน” ซึ่งแปลว่า ยุ่ง ในสมัยพระพุทธกาลผู้คนมักจะมีศีล 5 ประจำใจกันเป็นนิจ ศีล 5 จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น “มนุษย์ธรรม” ส่วนหนึ่งในมนุษย์ธรรม 10 ประการ ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องถึงพร้อมด้วยมนุษย์ธรรม 10 ประการเป็นปกติ (ซึ่งรวมถึงศีล 5 ด้วย) รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเอง ก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้คือ 1. การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้จะได้ถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 2. การถือศีล 5 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 8 แม้จะถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 3. การถือศีล 8 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 10 คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้แต่เพียงวันเดียวก็ตาม 4. การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้วรักษาศีล 10 ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระพุทธศาสนามีศิลปาฏิโมกข์สังวร 227 แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม ฉะนั้น ในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมมบารมีในบารมี 10 ทิศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงๆ คือ การภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อๆ ไปผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้น ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น ซึ่งแล้วแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้วด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ หากไม่มีอกุศลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ 4 ประการ เช่น อานิสงส์ของการรักษาศีล 5 กล่าวคือ ๑) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 1 ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะทำให้มีพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียน ให้ต้องบาดเจ็บไม่มีอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่จะทำให้บาดเจ็บหรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันสมควร ๒) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 2 ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้ ด้วยเศษของบุญที่นำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่าง ๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ๓) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 3 ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรักมักได้พบรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดา ก็ว่านอนสอนง่ายไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นหลอกลวงฉุดคร่าอนาจารไปทำให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล ๔) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 4 ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้มีสุ้มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผลชนิดที่เป็น “พุทธวาจา” มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจากจะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้เชื่อฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี ๕) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 5 ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัยเครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาทปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือนไม่เสียสติวิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม อานิสงส์ของศีล 5 มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับ ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่งๆ ขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้จะมีอานิสงส์เพียงไรก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลาง ๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้น ศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่าการภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตใจให้เบาบางหรือจนหมดกิเลสคือความโลภ โกรธ และหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ การภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงที่สุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุด เป็นกรรมอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า “มหัคคตกรรม” อันเป็นมหัคคตกุศล ๓. การภาวนา การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี 2 อย่าง คือ (1)สมถภาวนา (การทำสมาธิ) และ (2) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) แยกอธิบายดังนี้ คือ
๑. สมถภาวนา (การทำสมาธิ) สมถภาวนา ได้แก่ การทำจิตใจให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน ซึ่ง ก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่น ๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ 40 ประการ เรียกกันว่า “กรรมฐาน 40” ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัย และวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่น ๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาสก็จะต้องรักษาศีล 5 เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล 10 หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ 227 ข้อ ให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน (เป็นกำลัง) ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล 227 ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อมมานานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู” คำว่า “จิตสงบ” ในที่นี้ หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบที่พระท่านเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” คือสมาธิเล็ก ๆ น้อย ๆ สมาธิแบบเด็กๆ ที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดจิตทรงอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ได้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ 1 คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์ (มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดา ชั้น 2 คือ ดาวดึงส์) สมาธินั้น มีหลายขั้นตอน ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน (อัปปนาสมาธิ) ก็คือ ขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น แต่ยัง ไม่ถึงชั้นพรหมโลก สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิหรือฌานนั้น มีรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 ซึ่งล้วนแต่ผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม 20 ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌานที่ได้ (เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาสคือ ชั้นที่ 12 ถึง16 ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ) รูปฌาน 1 ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้น 1 ถึงชั้น 3 สุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌาน 1 ส่วน อรูปฌานที่เรียกว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” นั้น ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือ ชั้นที่ 20 ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 84,000 มหากัป เรียกว่า นิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็น นิพพาน การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุดเพราะไม่ได้เสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยเพียงระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรม ยังต้องเสียทรัพย์และบางทีก็ต้องเข้าช่วยแบกหาม เหนื่อยกาย แต่ก็ได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างที่เทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนาหรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงจะเป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้ ๒. วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว เช่น อยู่ในระดับฌานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นฌานในระดับใดก็ได้ แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้ อารมณ์ของวิปัสสนานั้นแตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะสมาธินั้นมุ่งให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียว โดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้นไม่นึกคิดอะไร ๆ แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลาย และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ “ขันธ์ 5” ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “รูป-นาม” โดยรูปมี 1 ส่วน นามนั้นมี 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ 5 ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชาคือ ความไม่รู้เท่าสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจ อุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลาย อันได้แก่ขันธ์ 5 นั้นล้วนแต่มีอาการเป็นพระไตรลักษณ์ คือ เป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย 1) อนิจจัง คือความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะให้ตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่น คนและสัตว์เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว และเฒ่าแก่จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหม และ เทวดา ฯลฯ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ที่เรียกว่าอุปาทานขันธ์ 5 เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นหน่วยเล็ก ๆ ของชีวิตขึ้นก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็น เรียกกันว่า “เซลล์” แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้นก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยเล็ก ๆ เหล่านั้น ก็มีการเจริญเติบโต และแตกสลายไป แล้วเกิดของใหม่ขึ้นแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน 2) ทุกขัง ได้แก่ “สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้” ทุกขัง ในที่นี้มิได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจ ก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทนตั้งมั่นอยู่ในสภาพนั้น ๆ ได้ตลอดไป ไม่อาจจะทรงตัว และต้องเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็ก ๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนุ่มและสาวแล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรมอันได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัวเช่นเดียวกัน เช่น ขันธ์ที่เรียกว่า เวทนา อันได้แก่ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีเกิดเป็นอารมณ์ดังกล่าวอย่างใดขึ้นแล้ว จะให้คงทรงอารมณ์เช่นนั้นให้ตลอดไปย่อมไม่ได้ นานไปอารมณ์เช่นนั้นหรือเวทนาเช่นนั้นก็ค่อย ๆ จางไปแล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน 3) อนัตตา ได้แก่ “ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ” โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น “รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ” ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่า “เซลล์” แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหญ่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบ ๆ ว่า เป็นธาตุ 4 มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนักแน่น เช่น เนื้อกระดูก ฯลฯ เรียกว่า ธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก ฯลฯ รวมเรียกว่า ธาตุน้ำ ส่วนสิ่งที่ให้พลังงานและอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า ธาตุไฟ ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า ธาตุลม (โดยธาตุ 4 ดังกล่าวนี้ มิได้มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า“ธาตุ” อันหมายถึง แร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์) ธาตุ 4 หยาบ ๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกันเป็นรูปกายของคน สัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้นเมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลงแล้วแตกสลายกลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟก็กลับไปสู่ไฟ ส่วนที่เป็นลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่า เป็นตัวเราของเราให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้ สมาธิย่อมมีกรรมฐาน 40 เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนึ่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้ ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียว คือ มีขันธ์5 เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ขันธ์ 5 นั้น ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม หรือสังขารธรรม เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลในสังขารธรรมทั้งหลาย จนรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็นพระไตรลักษณ์ คือเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และเมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริง เรียกว่า จิตตกระแสธรรมตัดกิเลสได้ ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่นึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาใน ที่พระท่านเรียกว่า “ญาณทัสสนะ” เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งจิตทีได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า “สมาธิอบรมปัญญา” คือ สมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ฉะนั้นทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน และอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเหมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้น เหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้ อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา แต่อย่างใด ทุกสรรพสิ่งล้วนแต่เป็นแค่ดิน น้ำ ลม และไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตามเหตุ ตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะละคลายจากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลงก็เบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณจนหมดสิ้นจากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผล ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่จะก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจนจิตเป็นฌานได้นานถึง 100 ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนาภาวนานั้น เป็นสุดยอมของการสร้างบุญบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม่ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุน หรือเสียทรัพย์แต่อย่างใด แต่ก็ได้กำไรมากที่สุด เมื่อเปรียบการให้ทานเหมือนกับกรวดและทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิและสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆ ทาง เพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว โดยไม่ยอมลงทุนให้ทานใดๆ ไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้ อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า “ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนนานถึง 100 ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นตวามจริงดังกล่าว” กล่าวคือ แม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น “โมฆบุรุษ” คือ บุรุษที่สูญเปล่า ต่อไปนี้ เป็นการเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ ประจำวัน ซึ่งควรจะได้ทำบ่อย ๆ ทำเนืองๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใด คือ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่น หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง 4 ประการ ดังต่อไปนี้ หากทำแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่า “จิตของผู้นั้นไม่ห่างจากวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจาก มรรค ผล นิพพาน” คือ 1) มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็คือ การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อันคำว่า มรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังต้องทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตืน รีบพากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า “มรณัสสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด ฯลฯ” อันมรณัสสติกรรมฐานนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ่งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้ว ก็ยังไม่ยอมละเพราะยังทรงอารณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุขซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ฯลฯ มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธิจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือ การพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่ แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยาก ดี มี จน เด็ก หนุ่ม สาว เฒ่าแก่ สูง ต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกัน ด้วยความตาย ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า ผู้ที่ประมาทมัวเมาต่อทรัพย์สมบัติ ยศศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า “หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด” และกล่าวไว้อีกว่า “หลงยศลืมตาย หลงกายลืมแก่” และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้วก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนาตำแหน่งหน้าที่จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้ง ต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแน่นอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมานั้น ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้เลย มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนานๆ จิตจะค่อยๆ สงบระงับจากนิวรณ์ธรรม 5 ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิและความจริง กรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้กับวิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้น เป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้วก็เป็นวิปัสสนาภาวนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก 3 เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า“อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตว์จะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่า อย่าฉิบหายแล้ว ดังนี้ ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเรา ตถาคตจักมีกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก 3 เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวงทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้วชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลายเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิดในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง 45 พรรษาได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ตถาคตของเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดาพวกเธอจงยังประโยชน์ของตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” 2) มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐาน อสุภ ได้แก่ สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือ มีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหา ราคา กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาและใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือ ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อย ๆ จากไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใด ๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึงสามีภริยาและบุตรธิดาต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตส่าห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยากก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบขน ๆ ออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนังค่อย ๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเลือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริแล้วร่วงหลุดออก จนเหลือแต่กระดูกส่งกลิ่นเน่าเหม็น เป็นที่น่าเกลียดกลัว สะอิดสะเอียน หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใด ๆ มิได้อีกเลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หมู่หนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวหาตนของเราของเขาที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย 3) มีจิตใคร่ครวญถึงกายคตานุสสติกรรมฐาน บางทีเรียกกันง่าย ๆ ว่า “กายคตาสติกรรมฐาน” เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มากเพราะสามารถทำให้ละ “สักกายทิฏฐิ” อันเป็นสังโยชน์ข้อต้นได้โดยง่ายและเป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายให้เห็นตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่จะบรรลุพระอรหัตตผลได้ จะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้งสามกองนี้เสมอ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความโลภ โกรธ และหลง ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่า เป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลสก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกายอันกว้างศอกยาววาและหนาคืบนี้เอง การพิจารณาก็คือให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงที่ว่า อันร่ายกายของคนและสัตว์ที่ต่างก็เฝ้าทะนุถนอมรักใคร่ว่าสวยงาม เป็นที่สนิทเสน่หาชมเชยรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูลสกปรกโสโครกไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถนอม เป็นมูตร คูถ เพราะเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นพืชผักและบรรดาซากศพของสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ภายในกระเพาะนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลาย ก็เป็นของที่สกปรกโสโครก ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น “ขี้” มีสารพัดขี้ ซึ่งแม้แต่จะเหลือบตาไปมองก็ยังไม่กล้าที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้วในท้อง กระเพาะ ลำไส้ภายในร่างกายของทุกผู้คนก็ยังคงมีบรรดาขี้เหล่านี้บรรจุอยู่เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดไว้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้น แต่เราท่านทั้งหลายก็พากันกกกอดคลึงเคล้าเฝ้าชมเชยก้อนขี้เหล่านี้ ว่าเป็นของสวยงาม น่ารักใคร่น่าเสน่หายิ่งนัก เมื่อมีการขับถ่ายออกจากทวารหูก็เรียกันว่าขี้ของหู คือ ขี้หู ที่ขับถ่ายออกทางตาก็เรียกว่า ขี้ตา ที่ติดฟันอยู่ก็เรียกว่า ขี้ฟัน ที่ออกทางจมูกก็เรียกว่า ขี้ของจมูก คือ ขี้มูก รวมความแล้วบรรดาสิ่งที่ขับถ่ายออกมาพอพ้นจากร่างกายในทันใดนั้นเอง จากเดิมที่เป็นของน่ารักน่าเสน่หา ก็กลายเป็นของที่น่ารังเกียจไปโดยพลันกลายเป็นสิ่งไม่มีใครอยากรักอยากเสน่หา เพราะเป็นขี้ และไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าของด้วย เมื่อไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ สิ่งที่ขับถายออกมาทางผิวหนังจึงหาเจ้าของมิได้ ซึ่งต่างก็โทษกันว่าขี้ของใครก็ไม่ทราบ นานมาก็กลายเป็น “ขี้ไคล” ดังนี้เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะน่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว แม้แต่สังขารร่างกายของคนเราเมื่อได้แยกแยะพิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความเป็นจริงที่ว่า เป็นที่ประชุมรวมกันของอวัยวะชิ้นต่าง ๆ ที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น เนื้อ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หนัง พังผืด เส้นเอ็น เส้นเลือด น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา น้ำปัสสาวะ ฯลฯ รวมเรียกกันว่า อาการ 32 ซึ่งต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะยางโตงเตงอยู่ภายใน เมื่อแยกหรือควักออกมาดูทีละชิ้น จะไม่มีชิ้นใดที่เรียกกันว่าสวยงาม น่ารัก น่าพิศวาสเลย กลับเป็นของที่น่าเกลียด ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู แต่สิ่งเหล่นี้ก็รวมประกอบอยู่ภายร่างกายของเราทุกผู้คน โดยมีหนังหุ้มห่อปกปิดอยู่โดยรอบ หากไม่มีผืนหนังหุ้มห่อและสามารถมองเห็นภายในได้แล้วแม้จะเป็นร่างกายของคนที่รักสุดสวาทขาดใจก็คงจะต้องเบือนหน้าหนีอกสั่นขวัญหาย บางทีอาจจะต้องถึงขั้นจับไข้ไปเลย ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นทำพิธีปัดรังควานเรียกขวัญกันอีก หากจะถือว่าน่ารักน่าเสน่หาอยู่ที่ผืนหรือแผ่นหนังรอบกาย ก็ลองลอกออกมาดู ก็จะเห็นว่าไม่สวยงามตรงไหนแต่อย่างใด แต่ที่นิยมยกย่องรักใคร่หลงกันอยู่ ก็คือผิวหรือสีของหนังชั้นนอกสุดเท่านั้น ถ้าได้ลอกหรือขูดผิวชั้นนอกสุดออกให้เหลือแต่หนังแท้แดงๆ แล้ว แม้จะเป็นหนังสดสวยของนามงามจักรวาล ผู้คนก็คงจะต้องเบือนหน้าหนี จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คนสวย คนงาม ก็คงสวยและงามกันแค่ผิวหนังชั้นนอกสุด รักและเสน่หากันที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นของฉาบฉวยนอกกายสุด หาได้สวยงามน่ารักไปเข้าถึงตับ ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ น้ำเลือด น้ำเหลือง อุจจาระ ปัสสาวะ ภายในร่างกายด้วยไม่ ส่วนผู้ที่ผิวหรือสีของหนังดำด่าง ไม่สดใสน่าดูก็พยายามทาลิปสติก แต่งหน้า ทาสี พอกแป้ง ย้อม และดึงกันเข้าไปให้เต่งตึง และออกเป็นสีสัน ต่าง ๆ แล้วก็พากันนิยมยกย่องชวนชมกันไป แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นความหลง โดยหลงรักกันที่แป้ง และสีที่พอก หลอกให้เห็นฉาบฉวยอยู่แค่ผิวภายนอกเท่านั้น เมื่อมีสติพิจารณาเห็นความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ หากจิตมีกำลังก็จะทำให้นิวรณ์ 5 ประการ ค่อย ๆ สงบระงับลงทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะจิตจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวายแส่ส่ายไปในอารมณ์รัก ๆ ใคร่ ๆ ในที่สุดจิตก็จะสงบเยือกเย็นลงจนถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ หากสติมีกำลังพก็อาจถึงชั้นปฐมฌานได้ กายคตานุสสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็เป็นสมถภาวนาที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรมหรือสภาวธรรม ซึ่งหากได้พลิกการพิจารณาอาการ 32 ดังกล่าวให้รู้แจ้งเห็นจริงว่า อาการ 32 ดังกล่าวนั้นไม่มีการทรงตัว เมื่อมีเกิดเป็นอาการ 32 ขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราและของเราแต่อย่างใด ร่างกายไม่ว่าของตนเองและของผู้อื่น ต่างก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้ก็เป็นวิปัสสนา กายคตานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารัก ไม่น่าใคร่ จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมาก ๆ เข้า จิตก็จะมีกำลังและเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งของตนเองและของผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ “นิพพิทาญาณ” จะเกิดขึ้น และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้ว จนมีญาณ ทัสสนะ เห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่าร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาแต่อย่างใด จิตก็จะน้อมไปสู่ “สังขารุเปกขาญาณ” ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในร่างกาย และคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ 5 เรียกว่า จิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ 5 ซึ่งจะนำไปสู่การละ “สักกายทิฏฐิ” อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้ และถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธ ศาสนา คือ เป็น “พระโสดาบัน” สมจริงตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า การเจริญกรรมฐานกองนี้จะไม่ห่างจากมรร คผล และนิพพาน ฉะนั้น กายคตานุสสติกรรมฐาน จึงเป็นกรรมฐานเครื่องที่จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้โดยง่าย ซึ่งในสมัยพระพุทธกาลท่านที่บรรลุแล้วด้วยพระกรรมฐานกองนี้มีเป็นอันมาก ในสมัยที่พระพุทะองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ได้เสด็จไปพบพราหมณ์สองสามีภรรยา ซึ่งมีบุตรที่สุดสวย ชื่อว่า “นางมาคัณฑิยา” พราหมณ์ ทั้งสองชอบใจพระพุทธองค์ จึงได้ออกปากยกนางมาคัณฑิยาให้เป็นภรรยา พระพุทธองค์ไม่ทรงรับไว้และมองเห็นนิสัยของพราหมณ์ทั้งสองที่จะได้บรรลุมรรคผล จึงได้ทรงแสดงพระธรรมให้ฟัง โดยยกเอากายคตานุสสติกรรมฐานขึ้นเทศน์ ซึ่งได้ตรัสตำหนิโทษแห่งความสวยงามแห่งรูปกายของนางมาคัณฑิยาว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นของปฏิกูล มูตรคุถเน่าเหม็น หาความสวยงามใดๆ มิได้เลย พราหมณ์ทั้งสองพิจารณาตามก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วนนางมาคัณฑิยาผูกโกรธ ต่อมาเมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพีก็ได้จองล้างจองผลาญพระพุทธองค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะแรงพยาบาท อีกท่านหนึ่งก็คือ นางอภิรูปนันทา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเขมกะศากยะ ก็จัดว่ามีรูปงามที่สุดในสมัยนั้นและพระนางทรงภาคภูมิหลงใหลในความงดงามของพระนางยิ่งนัก แต่ด้วยบุญบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมาแล้วเป็นอันมากในอดีตชาติ เป็นเหตุให้พระนางได้สดับพระธรรมของพระพุทธองค์จากพระโอษฐ์ ซึ่งได้ทรงเทศน์กายคตานุสสติกรรมฐานควบคู่ไปกับมรณัสสติกรรมฐาน แล้วทรงเนรมิตรูปกายของสาวงามที่งามยิ่งกว่าพระนางให้ปรากฏขึ้นให้พระนางได้มองเห็น แล้วบันดาลให้รูปเนรมิตนั้นค่อย ๆ เจริญวัย แก่ แล้วชราโทรมๆ ลงจนตายไปในที่สุด แล้วก็เน่าเปื่อยสลายไปต่อหน้า พระนางก็น้อมเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาเปรียบเทียบกับร่างกายของพระนาง จนเห็นว่าอันร่างกายอันงดงามของพระนางนั้นหาได้งามจริงไม่ ทั้งเป็นอนิจจังและอนัตตา หาสาระแก่สารที่พึ่งอันถาวรอันใดมิได้เลย จนพระนางได้บรรลุพระอรหันต์ในขณะนั้นเอง และพระนางเขมาเทวีที่ยิ่งด้วยรูปโฉม และเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในทำนองเดียวกันนี้เอง 4) มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน คือ นอกจากจะมีจิตใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวมาในข้อ 3 แล้ว พึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดีของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย เป็นแต่เพียงธาตุ 4 มาประชุม เกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่าแก่แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดินก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลมก็กลับไปสู่ความเป็นลมและธาตุไฟก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเราเมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเนื้อ กระดูก ตับ ไต ไส้ กระเพาะ เส้นเอ็น หนัง พังผืด เนื้อเยื่อ มันสมอง ไขข้อ ฯลฯ มาเกาะกุมกัน ตัวตนของเราไม่มี ครั้นเมื่อแยกแยะอวัยวะย่อย ๆ ดังกล่าวออกไปอีกจนถึงหน่วยย่อยๆ ของชีวิต คือเซลล์เล็ก ๆ ที่มาเกาะกุมรวมกัน ก็จะเห็นว่าเซลล์เองก็เนื่องมาจากแร่ธาตุทั้งหลาย ซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจ มารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่มีตัวตนของเราแต่อย่างใด แม้แร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ก็เนื่องมาจากพลังงานโปรตอนและอีเล็คตรอนเท่านั้น หาใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใดไม่ ที่หลงกันอยู่ว่า ตัวเราของเราหาที่ไหนมิได้เลย ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหาสะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้ง ต้องจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย แม้แต่เนื้อตัวร่างกายที่ว่าเป็นของเรา ก็ยังเอาติดตัวไปไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็นและรู้กันมานานนับล้านๆ ปี คนแล้วคนเล่า ท่านทั้งหลายที่ได้เคยยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์อำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติในอดีตกาลจนเป็นถึงมหาจักรพรรดิ มีสมบัติที่สร้างสมมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้อื่นจนค่อนโลก แต่แล้วในที่สุดก็ต้องทิ้ง ต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านที่เคยยิ่งใหญ่ จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้ แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไปจนหาไม่พบว่า เนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะ ของท่านอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อเกิดกำเนิดมาเป็นตัวของท่านเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เพียงเท่านี้ มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ เมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆ กันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวายสะสมสิ่งที่ในที่สุดก็จะต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเรา ซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ 100 ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้ เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมีที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า แม้หากสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริง ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้มีจริง ดังที่ปราชญ์ในอดีตกาลยอมรับ แล้วเราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายมิขาดทุนหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์กลับต้องมาโมฆะเสียเปล่า ก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น “โมฆะบุรุษ”โดยแท้ |