ติดต่อหาเรา email: phuketnews@gmail.com Tel: 0813974624 / 0818945256
อุโมงค์กะทู้ ป่าตอง โดย พีระพงค์ ผลประมูล ผู้สื่อข่าว : สื่อสร้างสรรค์ ทันเหตการณ์
อุโมงค์กะทู้ – ป่าตอง
อบจ.ภูเก็ต ร่วมประชุมหารือการเวนคืนที่ดินบริเวณอุโมงค์ในพื้นที่ป่าตอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา จ.ภูเก็ต
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 น. นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา และหัวหน้าส่วนราชการ อบจ.ภูเก็ต ร่วมให้การต้อนรับ นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และคณะ เข้าประชุมหารือเรื่องการเวนคืนที่ดินบริเวณอุโมงค์ในพื้นที่ป่าตอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายษณกร กี่สิ้น รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง และสมาชิกสภาเทศบาลเมืองป่าตอง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ อาคาร 2 อบจ.ภูเก็ต
วันนี้เราจึงพาย้อนกลับไปดูลำดับไทม์ไลน์ของความเป็นมาของการก่อสร้าง
ทางด่วน อุโมงค์ กะทู้- ป่าตอง กัน
ตามที่ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ต 192 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 222 หลัง เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วน "กะทู้-ป่าตอง" อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ จุดพักรถ ด้านกทพ.เปิดประมูล PPP วงเงิน 1.7 หมื่นล้าน ล่าสุดเอกชนซื้อซองแล้ว 8 ราย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เพื่อก่อสร้างทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และอาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ จุดพักรถ (Rest Area) และสิ่งจำเป็นอื่น ตามโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม 2565) โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี และให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
โดยมีที่ดินที่ต้องเวนคืนจำนวน 192 แปลง และสิ่งปลูกสร้างจำนวน 222 หลัง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน รวมทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปสำรวจ และเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องได้มาโดยแน่ชัด
และเมื่อการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 รวมทั้งสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพในกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น สึนามิ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต-พังงา-กระบี่) ที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และประเทศไทยในอนาคต โดยกรมการปกครองได้ตรวจสอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) [เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมาย หรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย] ด้วยแล้ว และสำนักงบประมาณแจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณให้เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว
กระทรวงคมนาคมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบตามร่างพระราชกฤษฎีกานี้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวร้อยละ 70 และได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว
ได้มีการอนุมัติโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งจะดำเนินการภายใต้รูปแบบคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เงินลงทุนเริ่มต้น 14,670.57 ล้านบาท ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร และ ได้อนุมัติค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 5,792.24 ล้านบาท โดยคาดว่า กทพ. จะ เริ่มก่อสร้างในปีนี้ 2566 และคาดว่าเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2570
สำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการที่คิดกันมาอย่างยาวนานเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร รวมทั้งเพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางระหว่างตัวเมืองฝั่งตะวันออกของภูเก็ตไปยังหาดป่าตอง และเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น เนื่องจาก สภาพเส้นทางที่ลาดชันและคดเคี้ยว โดยมีลักษณะ/รูปแบบเป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กม. เป็นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับ ถ.พระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ มีทางขึ้นลง 2 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน
สำหรับรูปแบบการลงทุน เป็นการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบในส่วนของการออกแบบ รายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงานพร้อมทั้งให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี
“โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (พ.ค.2565-ก.ค.2570) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสัญจรกับประชาชนในพื้นที่ตลอดจนนักท่องเที่ยว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศเป็นไปตามการสนับสนุนการพัฒนา จ.ภูเก็ต ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีกด้วย
โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นโครงการทางพิเศษสายแรกของ กทพ.ที่มีการลงทุนนอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลการศึกษาของโครงการนี้จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร
มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ มุ่งไปทางทิศตะวันออก เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นอุโมงค์ระยะทาง 1.85 กม. ลอดใต้เทือกเขานาคเกิด หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 (ถนนพระบารมี)
โดยรูปแบบจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) โดยบริเวณจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ จะก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับ พร้อมติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางบริเวณด้านกะทู้ จำนวน 1 ด่าน เก็บค่าผ่านทางทั้ง 2 ทิศทาง
สำหรับความพิเศษของโครงการนี้ ยังถือเป็นทางพิเศษอุโมงค์สายแรกของประเทศไทย และเป็นทางพิเศษสายแรกของที่เปิดให้รถจักรยานยนต์วิ่งได้ รวมทั้งการออกแบบมาให้ใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ จากความพิเศษของโครงการที่กล่าวมานั่น ส่งผลให้ กทพ.ต้องออกข้อกำหนดเงื่อนไขในการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการนี้อย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของงานก่อสร้างที่จำเป็นต้องมีความปลอดภัยสูงจากการขุดเจาะอุโมงค์
แนวสายทาง-การก่อสร้างทางยกระดับและอุโมงค์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
โครงการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) ยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร แล้วจึงเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กิโลเมตร หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029
โครงสร้างทางยกระดับสายทางหลักเป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปตัว I(I - Beam Girder) ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง แบ่งเป็นรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 3.50 เมตรมีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 1.75 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันชนคอนกรีต (Concrete Barrier) แบ่งแยกรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกันเพื่อความปลอดภัย
โครงสร้างเป็นอุโมงค์คู่ ห่างกันประมาณ 25 เมตร โดยแต่ละอุโมงค์มีความกว้างภายในรวม 17.10 เมตร และมีขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง แบ่งเป็นรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 1.75 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันชนคอนกรีต แบ่งแยกรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกันเพื่อความปลอดภัย มีทางเท้าข้างอุโมงค์กว้างข้างละ 1.00 เมตร เพื่อการซ่อมบำรุงและใช้กรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ ภายในอุโมงค์จะมีระบบต่าง ๆ ที่จำเป็น ได้แก่ ระบบระบายอากาศ ระบบตรวจวัดปริมาณมลสาร CO NO2 ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกระจายเสียง ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบป้ายสัญญาณจราจรและป้ายข้อความ ระบบระบายน้ำ เป็นต้น
ด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณด้านกะทู้ จำนวน 1 ด่าน เก็บค่าผ่านทางทั้ง 2 ทิศทาง คือ ทิศทางกะทู้ - ป่าตอง และทิศทางป่าตอง - กะทู้ ประกอบด้วย ช่องเก็บค่าผ่านทางทิศทางละ 9 ช่องทาง จำแนกเป็น รถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ช่องทาง (6 ตู้) รถยนต์ จำนวน 5 ช่องทาง และรถบรรทุก จำนวน 1 ช่องทาง โดยมีพื้นที่เผื่อไว้สำหรับจัดทำช่องเก็บค่าผ่านทางในอนาคตด้านละ 1 ช่องทาง
|
สกู๊ปข่าว ภูเก็ต