หลังโควิด19_การจัดการท่องเที่ยวป่าตอง การจัดการ ท่องเที่ยวป่าตอง หลัง โควิด-19
ดร. ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ผู้บริหารบริษัทในเครือ พิโซน่ากรุ๊ป จำกัด แนวทางในการฟื้นฟูเมืองท่องเที่ยว อย่างป่าตอง เราควรเปิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก่อน เพื่อที่คนที่มาเที่ยวยังรักษาระยะห่างทางสังคมได้ (Social distancing) ยังต้องใช้เจลแอลกอฮอล์ต่อไป และควรใส่หน้า กากอนามัยต่อไปสักระยะหนึ่ง สิ่งแรกที่ป่าตองเราควรมีการเปิดหาด บางธุรกิจควรเปิดทำการได้ เช่น ธุรกิจร่มเตียง อาจจะมีการจัดระยะห่าง ความกว้างของพื้นที่ มีการจำกัดคนเข้าไปในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในระยะแรก ส่วนธุรกิจในซอยบางลา ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของป่าตอง เราก็ต้องมาดูกันว่ามีมาตรการอะไรบ้าง อาจจะมีการเปิดหลังวันที่ 16 มิถุนายนนี้ แต่นักท่องเที่ยวที่เข้าไปก็น่าจะมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ มีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ มีการใส่หน้ากากอนามัย สถานบันเทิงขนาดใหญ่เราก็มีการพูดคุยกันว่า อาจจะมีห้องอบพ่นยาฆ่าเชื้อขนาดใหญ่ ตอนเดินผ่านเข้าไป มีด่านอีกชั้นหนึ่งเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ และเปลี่ยนหน้ากากอนามัยอันใหม่ เมื่อไปนั่งที่โต๊ะมีเจลแอลกอฮอล์วางไว้บริการ แต่เดิมที่สถานบริการความบันเทิงเคยรับนักท่องเที่ยวได้ 100-200 คน อาจจะจำกัดคนให้เหลือแค่ 15-20% ก็ได้ เพื่อรักษาเรื่องระยะห่างทางสังคมหรือ Social distancing เอาไว้ก่อน ไม่ใช่ทุกที่ที่จะทำได้แบบนี้ อาจจะเป็น platform เป็นตัวอย่างแบบใหม่ ที่สถานประกอบการใหญ่ ๆ น่าจะร่วมกันทำ หลังจากจะกลับมาเปิดธุรกิจในวันที่ 16 มิถุนายน นี้ก็ได้ การฟื้นฟูเมืองท่องเที่ยวอย่างป่าตอง ต้องฟื้นฟูทั้ง 2 ด้าน ทั้งที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และธุรกิจสถานบันเทิง ที่ต้องเตรียมความพร้อม ต้องมีการจำกัดคนและทำการรักษาระยะห่างทางสังคม Social distancing เตรียมรองรับเอาไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนนักท่องเที่ยวเอง ซึ่งน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยในระยะแรก ต้องมีการฝึกตัวเองในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลการติดเชื้อ รวมถึงผู้ให้บริการเองก็ต้องมีมาตรการในการดูแลตนเองเรื่องการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลการติดเชื้อ ต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรในการให้บริการ เช่น การใส่ถุงมือ การใส่ชุดที่ป้องกันการติดเชื้อ หลังวิกฤติโควิด-19 ภาครัฐเองก็ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า หลังโควิด-19 ต้องดูแลตัวเองอย่างไร พวกกลุ่มอาสา ต้องดูแลตัวเองอย่างไร กลุ่ม life guard ต้องดูแลตัวเองอย่างไร อยู่อย่างไร สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลป่าตองจะเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างไร คนในชุมชนควรเข้ามาให้ความร่วมมือกันอย่างไรบ้าง ถ้ามีการเชื่อมโยงประสานงานกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการดูแลช่วยเหลือกัน ติดต่อกัน เมื่อพบว่ามีผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แล้วต้องมีการส่งตัว ส่งต่อหรือต้องมีการปฏิบัติกันอย่างไร น่าจะเป็นมาตรฐานการป้องกันดูแลที่เราต้องมาร่วมกันบูรณาการร่วมกันว่าจะต้องมีแนวปฏิบัติร่วมกันอย่างไรบ้าง ผมว่าประเทศไทยเราทำได้ นักท่องเที่ยวอาจจะยังมีไม่มาก ลูกค้ามาให้บริการไม่มาก แต่ถ้าเรามีการฝึกฝน มีการฝึกทักษะว่าหลังโควิด-19เราจะอยู่กันอย่างไรดูแลกันอย่างไร ต่อไป น่าจะได้มีการพัฒนากันยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ในภาคธุกิจ ผมเชื่อว่า พวกเขามีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองมาโดยตลอด ทั้งเรื่อง ราคาที่ปรับลดลง เรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคมในชุมชนของธุรกิจของตนเอง ต่อไปหลังโควิด-19 ต้องมีการปรับตัวเรื่องการทำตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อเปิดประเทศเราต้องทำตลาดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพื่อจะเยียวยาให้เกิดการจ้างงาน ทำให้คนไม่ตกงาน ไม่ทำให้สังคมวุ่นวาย หลังจากหมดวิกฤติโควิด19 เรามีความจำเป็นต้องเปิดธุรกิจ คือ เปิดแบบเบาๆ ซอฟต์ๆ และดูสถานการณ์ว่า การรักษาระยะห่างทางสังคม จะช่วยให้มีผลดีขึ้นบ้างไหม และหากมีการติดเชื้อระลอก 2 เราก็ทำการปิดธุรกิจได้อีก ปิดได้เร็วขึ้น รู้ตัวเร็วขึ้น ถึงแม้เราอยากให้โรคนี้หมดไปจากโลกนี้ แต่ว่ามันก็จะยังไม่หมด มันจะอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้ สำคัญที่ว่าเราจะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร ขอให้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่า หากเปิดกิจการหลังวิกฤติโควิด แล้วมีการติดเชื้อระลอก 2 เราต้องมีแผนทำอะไรกันบ้าง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เรื่องแรกที่ผมอยากให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือภาคประชาชน คือ “อยากให้ช่วยทำให้คนไม่วุ่นวาย” สิ่งแรกรัฐบาลควรมีการสำรวจสัมโนประชากร ว่ามีคนอยู่ในแต่ละพื้นที่เท่าไร ทำก่อนเป็นสิ่งแรก ให้ชัดเจน จะได้ไม่มีกรณี คนบางคนกลายเป็นเกษตรกร ภาครัฐต้องรู้ให้ได้ว่ามีใคร อยู่ในพื้นที่ไหน จำนวนเท่าไร อาชีพอะไร ทำให้ได้ ทำให้ชัดเจน เพราะถ้าไม่รู้ว่า คนในทะเบียนบ้านมีเท่าไหร่ มีใครบ้าง การตัดสินใจทำอะไรก็อาจจะผิดพลาดได้ ภาครัฐหรือภาคเอกชนจะให้ความร่วมมือกันได้ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อมูลที่ชัดเจน และถูกต้อง สิ่งนี้เองที่ผมคิดว่าภาครัฐควรรีบทำก่อน เพื่อที่จะไม่เกิดความวุ่นวายต่าง ๆ ตามมา เรื่องที่สองที่ผมอยากให้ภาครัฐช่วย คือ เรื่องทักษะการจัดการควบคุมตนเองจากโควิดเพื่อการท่องเที่ยว ต้องมีการฝึกทักษะการควบคุมโรคโควิดให้ได้ บริหารจัดการมันได้ ทั้งทักษะความรู้ของผู้ให้บริการ ความรู้ของประชาชน และความรู้ของนักท่องเที่ยว และสร้างจิตสำนึกในเรื่องการให้ความร่วมมือ ทั้งเรื่องการตรวจคัดกรองโรค การดูแลตนเอง และการรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นเรื่องที่ต้องมีมาตรการที่ดีในการฝึกทักษะแก่ทุกคน เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนต้องทำร่วมกัน เรื่องที่สามที่อยากให้ภาครัฐช่วย ผมอยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วย เรื่องไฟแนนซ์ การพักชำระหนี้ เรื่อง การให้ ซอฟท์โลน (Soft Loan) เพื่อรักษาเยียวยาคนที่ตกงาน ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง แต่ก็จะทำให้คนอยู่รอดต่อไปได้ ทำให้การท่องเที่ยวอยู่ต่อไปได้ ช่วยอย่าทำให้คนตกงาน ช่วยทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวได้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ที่มีเงื่อนไขในการให้กู้ยืมที่ดีกว่าเงินกู้ทั่วไปในท้องตลาด เงินกู้ที่ภาครัฐให้มาควรให้ได้ขนาดเท่ากับขนาดของ GDP เพราะภาคธุรกิจการท่องเที่ยวผมว่าใช้เวลาอีก 6 เดือน ถึง 1 ปีกว่าจะฟื้นตัวได้ ภาครัฐต้องอัดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อที่จะฟื้นฟูทั้งคน และฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อให้แรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวไม่ตกงาน และไม่ขยับตัวโยกย้ายงานเคลื่อนไปเคลื่อนมา ถ้านักธุรกิจการท่องเที่ยวมีซอฟท์โลนที่ถูกกว่า 2% พวกเขาจะสามารถประกอบกิจการได้ดีขึ้น สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่างๆ ได้มากขึ้น ข้อมูลต่าง ๆ ของภาครัฐ ต้องถูกต้องชัดเจน การตัดสินใจต่าง ๆ ของภาครัฐอย่านานมาก โดยรัฐต้องจัดการความคิดเห็นต่าง ๆ ของประชาชน เพื่อไม่ให้ประเทศเราแตกแยก อย่าให้เกิดความวุ่นวาย อย่าให้เกิดความหิวโหย เพราะบ้านเมืองอาจจะเกิดจราจล เงินเยียวยาต่าง ๆ ต้องเร็วมาก ๆ ช่วยคนกลุ่มรากหญ้าก่อน หลังจากนั้นค่อยช่วย SME ต้องคิดแบบ Turn up side down ใหม่ คิดจากคนรากหญ้าที่มีจำนวนมากก่อน รากหญ้าต้องอยู่ให้ได้อย่างน้อยครึ่งปี ส่วนพวกระดับบนนั้น หากกลุ่มรากหญ้าอยู่ได้กลุ่มคนระดับบนก็จะอยู่ได้ด้วย ทุกวันนี้รัฐบาลตัดสินใจหลายเรื่องที่ช้า ต้องมีการปรับปรุงใหม่ ต้องมีความรวดเร็วและชัดเจนให้มากขึ้น รวมทั้งต้องมีความมั่นใจให้มากขึ้นด้วย ภาครัฐต้องสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจให้เร็วและ อยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน
|