เฟ้นโอกาส ในวิกฤติ โควิด-19 เฟ้นโอกาส ในวิกฤติ โควิด-19 ปราบ แนะ ภาครัฐ เอกชน ชุมชน อย่าตื่นตระหนก สร้างความเชื่อมั่น ตั้งสติ และให้กำลังใจกัน
วิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน เป็นวิกฤติที่สาหัสซึ่งหนักพอสมควร เพราะเป็นเรื่องที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ ทำให้ไปกระทบกับธุรกิจในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจด้านการบริการ และ ด้าน การท่องเที่ยว จะกระทบอย่างหนักเป็นลำดับต้นๆ ถ้าวิเคราะห์ตามสถานการณ์ ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ประเทศเกาหลี มีตัวเลขผู้ป่วยน้อยลงแล้วก็จริง แต่ว่าการกระจายของโรคก็ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังกระจายมาก ถึงกับส่งผลทำให้ บางประเทศต้องปิดประเทศ และมีผลกระทบต่อการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการทำมาหากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในระดับที่ต้องทำงาน หาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโลก คนในระดับพนักงาน คนทำงาน มีรายได้ลดลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเรา ในประเทศไทยเรา เศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว และการส่งออก สูงเกือบ 70% ของ GDP ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง โดยการท่องเที่ยวมี น้ำหนักมากถึง 13-14% ซึ่งเกี่ยวข้องถึงคนที่ทำธุรกิจด้านนี้ เกือบ 5-6 ล้านคน ยิ่งโควิด19 กระทบหนักมากเท่าไร คน 5-6 ล้านคนเหล่านั้น ก็กระทบหนักไปด้วย ล่าสุด รัฐบาลจะปิดสถานบันเทิง สถานบริการต่าง ๆ อีก อาจจะมีผลกระทบพุ่งไปถึง 7 ล้านคน หลาย ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตลาดหุ้น ตลาดทุน และตลาดในการลงทุน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะมีผลทางด้านลบ มีความยากลำบากขึ้น การสงครามน้ำมัน ระหว่างซาอุดิอารเบีย กับ รัสเซีย ก็เป็นการกดดัน ในเรื่องของตลาดทุน ตลาดความน่าสนใจในการลงทุนลดน้อยลง ในบางส่วน วิกฤติก็มีโอกาส เช่น เรื่อง ทอง หรือคนที่ทำเกี่ยวกับสิ่งจำเป็น สาธารณูปโภค หรือปัจจัย 4 เพราะคนเราถึงไม่ได้ออกไปทำงาน แต่ก็มีความจำเป็นต้องกินต้องใช้ ต้องอยู่ ต้องใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำประปา ต้องดำเนินชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการด้านนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุ การณ์แบบนี้ขึ้นก็ตาม การปรับตัวในสภาวะโรคระบาดโควิด-19 ผมคิดว่า แบ่งได้เป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคชุมชนหรือประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลกระทบต่อวิกฤติโควิด ภาครัฐ ถึงแม้ประชาชนอาจจะมองว่า ภาครัฐออกนโยบายช้า และนโยบายยังไม่เฉียบขาด เป็นผลทำให้ประชาชนมีความตื่นตระหนกในข้อมูลของภาครัฐที่คลุมเครือ ทั้งเรื่อง การกักกันผู้ป่วยที่ติดเชื้อ การบริหารงานด้านหน้ากากอนามัย ทั้งเรื่องการนำเข้า ส่งออก การทำให้มีหน้ากากเพียงพอกับความต้องการของประชาชน ยังเป็นที่เคลือบแคลงสังสัยของสังคมค่อนข้างสูง ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลค่อนข้างน้อย ในความคิดเห็นของผมเองส่วนของภาครัฐ ในระยะสั้น ที่ควรทำ ได้แก่ 1) นโยบายด้านภาษี อยากให้รัฐบาลช่วยประชาชนในการลดภาษี อาจจะงดชำระในระยะ 3 เดือน ถึง 6 เดือน เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง ลดภาระเรื่องเงินทุน กระตุ้นการลงทุน อาจจะลดลงมาเหลือ 0.5% ตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก 2) นโยบายด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า และต้องทำให้เร็ว 3) นโยบายด้านการลงทุนต่าง ๆ นั้น งบประมาณในประเทศเรากว่าจะเริ่มใช้ได้ทำได้ต้องรอ 1 พฤษภาคม ก็ควรจะต้องมีการเร่งเบิกจาย ในการทำโครงการ หรือในการจ้างงานต่าง ๆ ในการใช้จ่ายในภาครัฐให้มากขึ้น ให้เร็วขึ้น เพราะแต่เดิมมีการใช้งบประมาณที่ช้าเกินไป งบประมาณที่ต้องนำไปสงเคราะห์ต่อบุคคลที่ประสบภัยด้านต่าง ๆ งบเรื่องการสงเคราะห์ต่อประชาชนที่กำลังลำบาก ต้องทำเร็ว แต่ในทางเดียวกันต้องคอยควบคุมป้องกันปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ปัญหาเรื่องความยากจนจะนำไปสู่ปัญหาฉกชิงวิ่งราว ปล้นฆ่า ภาครัฐต้องหาวิธีป้องกัน ต้องทำงานหนักมากขึ้น รัฐบาลต้องใช้ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจ ด้านการคลังการเงิน ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนได้ออกมาทำงานและทุกคนมีความปลอดภัย 4) นโยบายด้านสาธารณสุข เป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลควรจะทุ่มงบประมาณในการซื้อหน้ากากอนามัย หรือเจลล้างมือ เพื่อจะกดราคาให้ต่ำลง หรือมีการกระจายสินค้าไปสู่ทุกคนได้โดยมีนโยบายให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น ผู้ผลิตไม่ต้องกังวลเรื่องการส่งออกแต่ผลิตเพื่อคนในประเทศของเรา ทำราคาให้ต่ำลง และควรมีการสนับสนุนฟรีให้กับบางคนบางกลุ่มที่เดือดร้อน ส่วนการกักตัว การรักษาต่าง ๆ ก็ต้องทำให้ดีให้น่าเชื่อถือตามความปลอดภัยทางการแพทย์ เพื่อให้กลุ่มแพทย์พยาบาลและบุคคลในวงการแพทย์ได้ทำงานอย่างปลอดภัย ถ้าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ และเสียชีวิต จะทำให้เราเสียบุคลากรที่สำคัญไป นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐควรมีนโยบายในการแจ้งข่าวสารข้อมูลสู่ประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ ทำให้คนป้องกันตนเองได้ เช่น ความรู้เรื่องการดูแลตนเองเกี่ยวกับการป้องกันไวรัส การล้างมือ การใช้หน้ากากอนามัย การอยู่ห่างจากผู้ป่วย หลีกเลี่ยงที่ชุมชน ซึ่งการปิดสถานบันเทิงก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นการหลีกเลี่ยงที่ชุมชนของประชาชน แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจพอสมควร โดยเฉพาะคนรากหญ้า ฉะนั้น หากภาครัฐจะสั่งปิดอะไร ต้องมีนโยบายเสริมในการสนับสนุนให้คนอยู่รอดได้ด้วย ถ้ามีแต่นโยบายสั่งปิดอย่างเดียวโดยไม่มีนโยบายสนับสนุนอื่น ๆ ก็จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนทำให้ชีวิตลำบาก อย่างเช่นควรมี ค่าน้ำฟรี ค่าไฟฟรี ค่าบริการการเดินทางฟรี รถไฟรถเมล์ฟรี อย่างน้อยเพื่อช่วยคนลดต้นทุนในการใช้ชีวิตลง นโยบายควรจะมีการทำควบคู่กันไป น่าจะมีการแจกจ่ายก่อน ถึงจะมีการสั่งปิด ภาคเอกชน ในเรื่องของสภาพคล่องจากรายได้หายไปมาก ใครที่เป็นหนี้คงต้องขอพักชำระหนี้ อาจจะพักการจ่ายเงิน 3 เดือน หรือ 6 เดือน และขอพักการชำระดอกเบี้ย ซึ่งหลาย ๆ สถาบันทางการเงินก็ช่วยเหลือในเรื่องนี้อยู่ ในช่วงที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุน การหลอกลวง หรือการเล่นแชร์ลูกโซ่ต่าง ๆ บางทีในสภาวะแบบนี้ก็มีคนไม่หวังดีเข้ามาอาศัยความที่คนตกอยู่ในภาวะโลภอยากได้เงินผลตอบแทนเปอร์เซ็นสูง ทุกคนควรระมัดระวังให้มากขึ้น จะมีการหลอกลวงให้ซื้อหุ้น ลงแชร์ ซื้อหวยเบอร์ล็อค จะมีกลุ่มแก๊งค์มิจฉาชีพมาหลอกลวงกันมากพอสมควร เราต้องตั้งสติตั้งมั่น ฐานเงินในช่วงนี้เราก็น้อยอยู่แล้ว อย่าไปลงกลการลงทุนของกลุ่มมิจฉาชีพ ถ้าจะมีการลงทุนที่ได้ผลประโยชน์เยอะๆ คงไม่ใช่ในสภาวะปัจจุบัน อย่าไปลงแชร์หุ้นกันซื้อหน้ากากมาขายให้ได้กำไรเยอะ ๆ อะไรทำนองนี้มันไม่ใช่มันผิดปกติ ควรระวังเก็บเงินสดเงินสำรองไว้ ในส่วนของธุรกิจของผมเอง ผมมีการพูดคุยกับพนักงาน ให้ความรู้ทักษะในการดำเนินชีวิต ให้ทักษะในการปรับตัว โดย 1) ผมก็ขอความร่วมมือจากพนักงานลูกจ้างในการปรับลดค่าจ้าง ลดวันทำงาน 2) ผมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้แก่พนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการ กลับมาของการท่องเที่ยวในอนาคต ทั้งทักษะการทำงานให้ดีขึ้น และให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเงิน เรื่องการพักชำระหนี้ สอนเพิ่มในการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มทักษะการหารายได้พิเศษด้วยตัวเอง ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ เราให้ความรู้พนักงานมากขึ้น พนักงานก็เรียนรู้และปรับตัว 3) ผมได้เพิ่มสวัสดิการ อาหาร ที่พักให้พนักงาน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน 4) ผมไม่มีนโยบายปลดพนักงานให้ออกจากงาน ภาคเอกชนต้องปรับตัว หากใครที่ไม่มีลูกค้า ก็ต้องหันมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปรับปรุงการบริการให้ดี เพื่อรองรับการกลับมาของการท่องเที่ยว รองรับลูกค้าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เร็วๆ นี้เราก็คงจะโชคดีมีวัคซีนมาช่วยในการป้องกันโรค ขณะนี้ทั้งจีนก็ทดลองกัน และมีความร่วมมือจากทั้งโลกที่ช่วยกันวิจัยกันเรื่องนี้ เราก็ควรจะมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รอเอาไว้ ถ้ามีการทำการโปรโมชั่นและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการของเราไปด้วยก็ยิ่งดี อย่างเช่น ถ้าทำร้านอาหารก็ไม่ต้องรอแต่ให้ลูกค้ามาที่ร้าน ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีบริการส่งให้ลูกค้า แบบ delivery ธุรกิจเรื่องอาหาร อย่าเกร็งกำไร อย่ากักตุน อย่าตื่นตระหนก เพราะจะทำให้เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายกว่าวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจที่พักอาศัย ผมว่ายังทำได้ดี ไม่ว่าสถานการณ์จะหนักแค่ไหน ฝากถึงภาคเอกชน ถึงจะมีการลดเงินเดือนลดวันทำงาน หรือให้ลูกจ้างทำงานที่บ้าน พยายามอย่าเอาพนักงานลูกจ้างออก เพราะการปลดคนออกไม่ทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น เรามาร่วมมือกัน ถอยคนละก้าว ลดคนละนิด ปรับคนละหน่อย เพื่อรักษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่าให้มีการตกงาน ภาคชุมชน ประชาชน สิ่งแรกที่ควรระวังคือ Fake News ข่าวปลอม อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวต่าง ๆ ดูแลตัวเองให้ดี กินร้อน ช้อนส่วนตัว ทำตัวให้สะอาด ล้างมือให้สะอาด ใช้สบู่ล้างมือ มีเจล มีแอลกอฮอล์ล้างมือ ใช้หน้ากากอนามัย ถ้าไม่มีจริง ๆ เราก็ผลิตเอง ศึกษาได้จากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทำเองได้ ซักเองได้ เพื่อป้องกันตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องรอซื้อหน้ากากอนามัยทั่วไปที่กำลังขาดแคลนก็ได้ เราทำเองแบบซักได้แช่น้ำยาฆ่าเชื้อเอง ทำเองใช้ส่วนตัว ทำแบบมีลายสวยๆ แบบน่ารักๆ ก็ยังได้ บางคนทำออกมาจำหน่ายมีรายได้ด้วย แต่ควรทำให้มีมาตรฐานที่ดีด้วย กันน้ำซึมได้ดี กันจากข้างนอกไปสู่ข้างใน จากข้างในไปสู่ข้างนอก และควรเป็นแบบสามารถทำความสะอาดได้ และหากโอท้อปต่าง ๆ สามารถผลิตหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือได้ ลองทำกันดูเพื่อให้เป็นสินค้า โอท้อปที่ราคาไม่แพง ถ้ามีการปิดประเทศไทย อยากให้ช่วยเหลือกัน ฝากถึงภาคชุมชน ประชาชนก็ควรพัฒนาตนเองในการใช้โซเชียล มีเดีย ทั้งยูทูป เฟสบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ ทำให้ตัวเองมีทักษะในอาชีพใหม่ๆ ใช้โซเชียลให้มีประโยชน์กับโลกปัจจุบัน เช่น ผลิตแอลกอฮอล์เอง ผลิตหน้ากากอนามัยเอง หรือมีการไปรับจ้างทำความสะอาด หรือการทำเพจให้ความรู้ด้านการดูแลตัวเองในการป้องกันโควิด ทำสิ่งที่เราชอบ ทำอะไรที่เรามีทักษะ ผ่านโซเชียล เพื่อผันออกมาเป็นรายได้ นี่เป็นข้อเสนอแนะอย่างหนึ่งที่ควรทำ ดีกว่าปล่อยตัวเองว่าง ๆ รอให้งานมาหาเรา อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉย ๆ ฝากถึงภาครัฐ เอกชน และชุมชน ประชาชน ในการที่พวกเราควรจะไม่ตื่นตระหนก สร้างความเชื่อมั่นเพื่อกันและกันให้ได้มากที่สุด ให้กำลังใจกันตั้งสติให้ดี เศรษฐกิจไม่ดีเราก็ต้องปรับตัว ยิ่งรู้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติยิ่งต้องตั้งสติกัน ภาคเอกชน ภาคประชาชนต้องพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด จะไปรอพึ่งพารัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องมีการวางแผน 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี ไว้แล้วว่าเราต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง ขอให้ประเทศไทยของเราพร้อมรับมือต่อโรค และ โลกของการเปลี่ยนแปลง
|