ติดต่อหาเรา email: phuketnews@gmail.com Tel: 0813974624 / 0818945256
Phuket Model กับ ภูเก็ตจัดการตนเอง Phuket Model กับ ภูเก็ตจัดการตนเอง การตัดสินใจผิดของรัฐบาลทำให้ภูเก็ตเสียโอกาส และล้าหลังไป หนึ่งร้อยปี
ดร. ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ผู้บริหารบริษัทในเครือพิโซน่า กรุ๊ป จำกัด และ ประธานมูลนิธิพัฒนาป่าตอง
---------------------------------------------------------------------------------------- ป่าตอง มีหลายเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่อง เงินเยียวยา เพราะมันสำคัญต่อการที่เราจะมีชีวิตอยู่รอดต่อไป เงินเยียวยา ควรจะได้สัก 5,000 – 10,000 บาท /คน เรื่องที่สองคือ เรื่อง การพักชำระหนี้ เพราะ รถ บ้าน หรือสิ่งที่จำเป็นในชีวิตต้องไม่ถูกยึดในระยะนี้ สัก 3 ปี เป็นอย่างน้อย เพื่อที่ลูกจ้างแรงงานในภูเก็ตจะได้มีแรงต่อลมหายใจ กันต่อไป
เรื่องต่อมาเป็นเรื่องของ SME ที่ควรจะได้รับ Soft Loan ที่ยาวขึ้นมากขึ้น
ทุกอย่างที่ภาครัฐทำในระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ว่ายังไม่สามารถทำให้ภูเก็ต ที่เป็นเมืองการท่องเที่ยวนานาชาติ ฟื้นฟูได้
สรุปได้ว่า รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการฟื้นฟูภูเก็ตให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากว่า ภูเก็ต ถือว่า วิกฤติมาก ในเรื่อง เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว เพราะภูเก็ตต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวจากนานาชาติ
ถ้าภาครัฐไม่สามารถช่วยอะไรพวกเราได้ พวกเราก็ต้องหันกลับมาดูว่าพวกเราสามารถทำอะไรกันได้บ้าง อันดับแรก อยากจะบอกให้ชาวภูเก็ต “ตั้งสติ” ก่อน เพราะภาครัฐอาจจะมาช่วยได้แค่นิดหน่อย พวกเราต้องเปลี่ยนตัวเอง เช่น ถ้าต้องต้อนรับลูกค้าชาวไทยมากขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนเรื่อง “ราคา” ก่อน ต้องเปลี่ยนราคาให้เหมาะสมกับคนไทย เหมาะกับรายรับหรือค่าครองชีพที่คนไทยมี ระยะนี้เราจะตั้งราคาแบบนานาชาติไม่ได้ เพื่อที่จะลบภาพจำ ที่คนไทย จำว่า “ภูเก็ตแพง”
ซึ่งจริงๆ แล้วการเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตมีทั้งถูกและแพง อยู่ที่การวางแผน ในเรื่องของระบบขนส่ง การเดินทาง เราก็รู้ว่า เราไม่สามารถตั้งราคาในราคาเดิมที่เคยมีมาได้ ธุรกิจเกี่ยวการการเดินทางก็ต้องตั้งราคาลดลงมา อาจจะลดราคา 50% หรือจัดให้มีบริการที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการลดราคาลง ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการให้บริการที่ดี ในรูปแบบที่ให้กับคนไทยมากขึ้น อาจจะต้องทำงานมากขึ้น ทำตัวให้เป็นไกด์เป็นเจ้าบ้านมากขึ้น มีบริการต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้เกิดความประทับใจกับคนไทย ควรจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจของเราไปได้ด้วยตนเองด้วย ไม่ใช่แต่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว
ในภาพรวมทั้งประเทศภาษีที่เก็บได้ และเศรษฐกิจโดยรวม แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาครัฐจะมีเงินมาช่วยภูเก็ตของเราได้ นอกจากมีการกู้ และเงินที่กู้มานั้น ก็ไม่ได้มาถึงปัญหาจริงๆ เพราะที่แก้กันไปแล้ว เป็นการแก้ในระยะสั้น 3 เดือนแรกเท่านั้น แต่ระยะกลาง ระยะยาว ยังไม่มีนโยบายแก้ปัญหาใดๆ ออกมา
เงิน 4 แสนล้าน ที่ผ่านโครงการต่าง ๆ มา ก็ยังไม่เป็นประโยชน์สูงสุดมากนัก ไม่มีการกระตุ้นการบริโภคในเบื้องต้น ทำให้ขาดสภาพคล่องในภาพรวม และที่มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่าน อสม. นั้น อาจจะมีประโยชน์กับหลายๆ พื้นที่ แต่แทบจะไม่มีประโยชน์ใดๆ กับภูเก็ตในเชิงที่จะช่วยฟื้นฟู
ในเรื่องภูเก็ตโมเดล ผมว่า ดี ในการค่อย ๆ ให้นักท่องเที่ยวมา ภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ก่อนว่า จะมี
นโยบายอย่างไร ในการทำภูเก็ตโมเดล ให้คนภูเก็ตไม่กลัว ให้มีความมั่นใจว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัย แล้วค่อยประกาศว่า จะเปิดโครงการภูเก็ตโมเดลวันไหน รัฐบาลควรจะให้มีนักท่องเที่ยวที่มีความพร้อมที่จะเข้ามา แต่ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหน
ก็ไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว
ในปัจจุบัน เพราะภูเก็ต
และ ประเทศไทย มี
over supply มาก ภูเก็ตมีห้องพักกว่า แสนห้อง แต่คนเข้าภูเก็ตมีหลักพันต่อวัน เป็นแค่1-2เปอร์เซนต์ ฉะนั้นไม่แปลกเลยถ้าป่าตองหรือที่อื่นๆ จะมีผู้ประกอบการปิดกิจการไป 80-90 เปอร์เซนต์ มันเป็นเรื่องของอุปสงค์อุปทานอยู่แล้ว ในเมื่อคนมาหลักพันแต่มีห้องหลักแสนก็ต้องปิดดีกว่า
ในการปิดกิจการจำนวนมากแบบนี้ ปัญหาที่ตามมาคือ การตกงานอย่างมหาศาล เพราะไม่คุ้มกับการเปิดกิจการในช่วงนี้ ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าแรง จ่ายค่าเช่า จ่ายค่าน้ำค่าไฟ และจ่ายหนี้ธนาคาร ในกรณีที่ยังมีคนเปิดกิจการอยู่บ้าง เขามีการขาดทุนเรื่องค่าเสื่อมราคา ขาดทุนค่าน้ำไฟ ขาดทุนค่าซื้ออุปกรณ์ ขาดทุนค่าโสหุ้ยค่าเสียเวลาต่าง ๆ เขายังขาดทุน แต่พวกเขายังเปิดเพื่อรองรับในระยะสั้น แต่กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านั้น น่าจะเปิดได้ไม่นานเพราะพิษโควิด19 ที่กระทบอยู่นี้มันรุนแรงมาก เดือนนี้เข้าสู่เดือนที่ 7 แล้ว ส่วนมากก็จะอยู่ได้ไม่นาน เงินเก็บก็คงใกล้จะหมดกันแล้ว ที่ป่าตองห้องพักที่เปิดกันอยู่ ก็มีแค่ 5 เปอร์เซนต์ ยิ่งเปิดน้อยความน่าสนใจก็ยิ่งน้อยยิ่งถดถอยลงไปเรื่อยๆ เมืองไม่มีอะไรนักท่องเที่ยวก็เหมือนมาดู เมืองร้าง
สิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ นโยบายที่ไม่ตรงประเด็นของภาครัฐ เงินช่วยเหลือที่ล่าช้า และเงินช่วยเหลือที่น้อยไป ภาครัฐควรทำให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐ กิจ และความปลอดภัย ในไม่นานยุคนี้อาจจะกลาย เป็นยุคข้าวยากหมากแพง ที่จะเห็นคนออกมาปล้นฆ่าชิงทรัพย์กันมากขึ้น นั่นมาจากนโยบายภาครัฐ ที่น้อย ช้า และไม่ตรงประเด็น ภูเก็ตเองก็อาจจะถูกทิ้งไปในรอบนี้เอง
ภูเก็ตเป็นหม้อข้าวดี ๆ สักใบ ที่เราสูญเสียน้อยที่สุด และได้รายได้เยอะที่สุด ก็คือ “การท่องเที่ยว” เราเสียทรัพยากรช้ากว่าอุตสาห กรรมหนักอื่นๆ ถ้าภาครัฐไม่ได้รักษา ภูเก็ต เอาไว้ ไม่ได้รักษาการท่องเที่ยวของภูเก็ตเอาไว้ ก็จะทำให้พัฒนาประเทศช้าล้าหลังอย่างแน่นอน
ภาครัฐตอนที่มีการกู้เงิน 1.9 ล้านล้าน ก็ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างสั้น จริง ๆ ต้องกู้สัก 6 ล้านล้าน แบ่งเป็นกู้ 2ล้านล้าน สัก 3 ครั้ง ถ้ามีเงินมากขนาดนั้น การมีหนี้มันก็ค่อยๆ ผ่อนได้ในสิบปียี่สิบปี แต่พอเรากู้มาไม่พอ อัดไปไม่พอ ระบบมันจะล่ม จะเหลือผู้บอบบางมาแทนที่ การใช้เงินก็ต้องใช้กับการบริโภคที่สูญเปล่า ไม่สามารถนำมาบริหารจัดการที่ดี เป็นความวิกฤติที่ค่อนข้างอันตรายที่อยากให้ภาครัฐมีวิสัยทัศน์ ที่ยาวไกลกว่านี้อีกนิด
ซึ่งแน่นอน หากภาครัฐเพิกเฉยกับภูเก็ต ผมแนะนำ ให้ภูเก็ตจัดการตนเอง เปิดสนามบินเอง ควบคุมกฎหมาย เกี่ยวกับ ต.ม.เอง มีการกักตัวนักท่องเที่ยวกันเอง ภูเก็ตจะฟื้นได้เร็วกว่าที่จะรออำนาจส่วนกลางมาตัดสินใจ เพราะภูเก็ตมีศักยภาพพอที่จะรับนักท่องเที่ยวที่กักตัวได้ สามารถปิดเมืองง่าย แต่ไม่มีโอกาสในการจัดการตนเอง มันเลยไปต่อไม่ได้
การตัดสินใจผิดของรัฐบาลทำให้ภูเก็ตเสียโอกาส และล้าหลังไป หนึ่งร้อยปี
ถ้าภูเก็ตเปิดสนามบินเอง รับนักท่องเที่ยวเอง ปิดเมืองเองได้ คนที่อยากจะขายของก็ขายจากแผ่นดินใหญ่ให้เกาะภูเก็ตได้ มันไม่เกี่ยวกับเงิน แต่มันเกี่ยวกับคนภูเก็ต เราไม่มีโอกาสในการบริหารจัดการเกาะภูเก็ตไข่มุกอันดามันของเราเอง ทุกวันนี้มันต้องขึ้นกับกฎหมายส่วนกลาง ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง ถ้าภูเก็ตจัดการตนเองได้มันก็จะไปได้ไกล
ผมว่ารัฐควรเปลี่ยนเรื่องระบบการจัดการและความจริงในในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต |
ป่าตองเข้มแข็ง by ดร.ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น