ReadyPlanet.com


ค่าแรง 300 บาท เพื่อไทยต้องทำ


ค่าแรง 300 บาท เพื่อไทยต้องทำ                   

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ภายใต้กระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยส่งผลให้เกิดการวิพากษ์ เกี่ยวกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยในช่วงการหาเสียง โดยเฉพาะประเด็น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการปรับค่าจ้างผู้ที่จบปริญญาตรี เป็น 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งค่อนข้างได้รับการวิพากษ์ จากนายจ้าง ลูกจ้าง และภาควิชาการ

 

              มีนายจ้างชักแถวออกมาโวยเรื่อง การปรับค่าจ้าง ต่างมองกันว่า จะมีปัญหา เพราะว่า หากมีการนำไปใช้จริง จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว พวกเขามองว่าแนวการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำได้ใช้หลักเกณฑ์ภายใต้ความสมดุลของเงินเฟ้อและความสามารถในการจ้าง ซึ่งที่ผ่านมาในหลายสิบปี ก็ได้ใช้เกณฑ์นี้ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศ และด้วยความสมดุลของอุปสงค์-อุปทานด้านแรงงาน ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาด้านแรงงานน้อยที่สุด

 

              ส่วนนักวิชาการนั้นมองคนละมุม กลับให้ความเห็นว่า นโยบายดังกล่าว จะไม่ ส่งผลกระทบ การที่สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าออกมาชี้แจงนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นปฏิกิริยาที่เกินจริง เพราะได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจค่าจ้างแรงงานในราคาถูกมานาน แต่พอถึงเวลาที่จะต้องจ่ายบ้างก็มีข้ออ้างมากมายปัญหาคือนายจ้างมองค่าจ้างคือต้นทุน ไม่ได้มองว่า เพิ่มค่าจ้างเป็นการเพิ่มตลาด

 

               ในส่วนของฝ่ายลูกจ้างเองก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ค้อนข้างล่าช้า หากถามว่าข้อเสนอการปรับค่าจ้าง 300 บาท เป็นไปไม่ได้ คนงานคงต้องอยู่ในชะตากรรมค่าจ้างขั้นต่ำแบบนี้ต่อไป แต่ถ้ามีการประกาศปรับค่าจ้างได้ตามนโยบาย ลูกจ้างจะมีชีวิตที่ดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

              ค่าจ้าง 300 บาทมีความเป็นไปได้ เรื่องนี้แม้จะเป็นเพียงการหาเสียง แต่มีการกำหนดเป็นตัวเลขชัดเจน ทำให้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำทุ่มให้จนชนะ คนไทยถือว่าเป็นข้อสัญญา “ค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท” และต้องทำได้ทันที ผิดสัญญาไม่ได้ การตัดสินใจเรื่องนี้ หากเอาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและคนงานที่เป็นคนส่วนใหญ่จำนวนมหาศาลของประเทศเป็นที่ตั้ง ก็จะต้องผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดเป็นจริงขึ้น รวมทั้งต้องนำไปสู่การแก้ไขบนพื้นฐานที่เป็นจริง ควรจะคืนประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน และประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ

 

              ส่วนนายจ้างก็อย่าคิดว่าค่าจ้างคือต้นทุนทั้งหมด ให้ไปดูว่ามีช่องทางไหนที่จะลดต้นทุนได้บ้าง ก็จะสามารถทดแทนกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะก็ควรจะเลิกกันได้แล้ว

 

แค่ปรับค่าจ้างคงจะยังไม่พอ สังคมไทยก็ควรจะก้าวไปสู่การดูแลเรื่องสวัสดิการอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้เรื่อง ค่าจ้าง ลดความสำคัญลง 



ผู้ตั้งกระทู้ ไข่มุกอันดามัน :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-14 13:01:49


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล